Transculturation ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Transculturation


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

     คำว่า Transculturation เป็นคำที่คิดขึ้นโดยนักมานุษยวิทยาชาวคิวบา ชื่อเฟอร์นันโด โอติส ซึ่งคิดในปี 1947 เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดจากการผนวกรวมวัฒนธรรมที่ต่างกันและนำไปสู่แบบแผนทางวัฒนธรรมใหม่ ซึ่งไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมเดิมสูญหายไป หรือเลือกรับเฉพาะวัฒนธรรมใหม่อย่างเดียว กระบวนการผนวกรวมวัฒนธรรมเข้าด้วยกันจะเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม ซึ่ง โอติสยกตัวอย่างวัฒนธรรมพื้นเมืองในคิวบาที่ถูกผนวกรวมเข้ากับวัฒนธรรมสเปนที่มีพลังอำนาจเหนือกว่าในช่วงล่าอาณานิคม  โอติสชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันชาวพื้นเมืองคิวบาพยายามรื้อฟื้นวัฒนธรรมของตัวเองขึ้นมาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากตะวันตก

          กระบวนการผนวกรวมวัฒนธรรมในประสบการณ์ของบุคคล เปรียบเสมือนการไกล่เกลี่ยนต่อรองเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น การที่บุคคลแต่งงานกับคนต่างวัฒนธรรม จำเป็นต้องมีการเรียนรู้และปรับตัวที่จะอยู่ในวัฒนธรรมที่ต่างกันสองแบบ ในสังคมสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ บุคคลจะรับวัฒนธรรมที่แตกต่างผ่านเข้ามาในเครื่องมือสื่อสารเหล่านี้  ดังนั้น บุคคลจึงเป็นผู้ขับเคลื่อนการผนวกรวมวัฒนธรรมที่ซับซ้อน

          ในสังคมอุตสาหกรรมและเมืองสมัยใหม่ บุคคลจะมีชีวิตทันสมัย ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ต่างกัน แต่เมื่อเข้ามาอาศัยในเมืองสมัยใหม่ แต่ละคนต้องพึ่งวัฒนธรรมบริโภคและระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ส่งผลให้แบบแผนการดำเนินชีวิตหรือไลฟสไตล์มีลักษณะคล้ายกัน เช่น สวมเสื้อผ้ายี่ห้อเดียวกัน รับประทานอาหารในฟาสต์ฟู้ดแบบเดียวกัน ใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือแบบเดียวกัน  ข้อสังเกตนี้ทำให้พบว่ารูปแบบทางวัฒนธรรมที่บุคคลรับมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันอาจจะไม่เหมือนกับวัฒนธรรมที่ถูกใช้เพื่อนิยามอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ เช่น คนผิวขาวกับคนผิวดำที่มีชีวิตในเมือง หรือชาวคริสต์กับชาวมุสลิม ถึงแม้จะบริโภคสินค้าสมัยใหม่เหมือนกันแต่ออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จะต่างกัน

          กระบวนการ Transculturation จึงมีทั้งด้านที่เหมือนกันและด้านที่ต่างกัน วัฒนธรรมที่บุคคลเลือกรับและเลือกปฏิเสธจะตอบสนองแบบแผนการดำเนินชีวิต ซึ่งถูกใช้เพื่อแสดงความเป็นชีวิตสมัยใหม่ หรือแสดงความเป็นอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ เช่น นำเอาสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมมาใช้แสดงความเป็นสมัยใหม่ นำเอาภาษาท้องถิ่นมาใช้แสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *