Trance ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Trance


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

     Trance มาจากภาษาลาตินว่า Transire หมายถึงผ่านไป หรือข้ามไป   การผ่านข้ามไปยังหมายถึงสภาพของจิตใจซึ่งบุคคลเปลี่ยนแปลงจากสภาพปกติไปสู่สภาพที่ควบคุมไม่ได้ หรืออยู่ในภวังค์   ภวังค์จึงเป็นสภาพที่ไร้การควบคุมของมนุษย์ หรือเป็นสภาพที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมตัวเองได้  ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการอยู่ในภวังค์มักจะเกี่ยวข้องกับสภาวะจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์     มานุษยวิทยาพยายามศึกษาเรื่องนี้โดยอธิบายว่าเป็นสภาวะที่ไร้การควบคุมที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมต่างๆ   ตัวอย่างเช่นพิธีเกี่ยวกับการรักษาโรคของผู้มีอำนาจวิเศษ หรือผู้ที่ติดต่อกับวิญญาณและกลายเป็นร่างทรง 

          ปรากฏการณ์นี้สามารถพบได้ในหลายวัฒนธรรม จากการสำรวจของเบอร์กียองพบว่าสังคม 437 แห่งจากทั้งสิ้น 488 แห่งมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น      สภาวะไร้การควบคุมของจิตใจเป็นเรื่องของแต่ละวัฒนธรรม แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสภาวะนี้เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล  ตรงข้ามกับความคิดเรื่องผีเข้า ร่างทรง หรือผู้วิเศษทั้งหลาย     เรย์มอนด์ เฟิร์ธอธิบายว่าการถูกวิญญาณเข้าสิง  คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าวิญญาณกำลังควบคุมร่างกายและจิตใจของมนุษย์  การถูกผีสิงจึงต้องมีพิธีการขับไล่ผี  ส่วนปรากฏการณ์ของร่างทรง เป็นสภาวะที่มนุษย์เป็นสื่อกลางเพื่อติดต่อกับวิญญาณ

          ในขณะที่ผู้มีอำนาจวิเศษ แตกต่างจากการถูกผีสิง  เนื่องจากผู้วิเศษไม่ได้ถูกวิญญาณควบคุม  แต่เขามีอำนาจควบคุมวิญญาณได้ หรือได้รับความช่วยเหลือจากวิญญาณในการสร้างพลังอำนาจในการพยากรณ์ มองเห็นอนาคตหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  

          แนวคิดเกี่ยวกับสภาวะไร้การควบคุมของจิตใจ  มีการอธิบายที่แตกต่างกัน 2 ลักษณะ คือ อธิบายในเชิงจิตวิทยา กับเชิงวัฒนธรรม    การอธิบายด้วยกรอบความคิดจิตวิทยาเชื่อว่าพฤติกรรมที่แสดงออกแบบไร้เหตุผลเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง     เจมส์ เฟรเซอร์ เชื่อว่าผู้ที่ถูกผีสิง คือผู้ที่เสียสติ   จอร์จ เดเวอรักซ์ นำแนวคิดของฟรอยด์มาอธิบายว่าสภาวะจิตใจของผู้มีอำนาจวิเศษ คือจิตใจของผู้ที่ป่วยทางจิตอย่างรุนแรง     ส่วนนักมานุษยวิทยาเชื่อว่าสภาวะที่ไร้การควบคุมของจิตใจเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม มิใช่อาการป่วยทางจิตแต่อย่างใด      

      เจน เบโล ศึกษาปรากฏการณ์เกี่ยวกับการถูกผีสิงและร่างทรงในบาหลี พบว่าสภาวะที่ไร้การควบคุมเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทางวัฒนธรรม  แอนโธนี วอลเลซ เรียกสภาวะนี้ว่าอาการป่วยแบบปลอมๆ หรือ Pseudo-Illnesses  เช่น สภาวะของจิตหลอน  อาการมึนงง หรือเมา  หรืออาการสิ้นสติ  นักจิตวิทยามักจะอธิบายว่า สภาวะที่ไร้การควบคุมคืออาการทางจิต   การศึกษาของนักมานุษยวิทยาในกรณีนี้มีหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการอธิบายหน้าที่ของพฤติกรรมในวัฒนธรรม  การศึกษาของลิวอิสเรื่อง Ecstatic Religion พบว่าการถูกผีสิงมีมิติทางการเมือง  ในสังคมที่มียกย่องเพศชาย ผู้หญิงจะกลายเป็นของกำนัลให้ผู้ชาย  การศึกษาของเอสเธอร์ เพรซเซล ในบราซิล พบว่าร่างทรงทำหน้าที่รักษาโรค และไกล่เกลี่ยความรู้สึกแปลกแยกของมนุษย์ที่มีต่อระบบอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

      การศึกษาของเวอร์จิเนีย ไฮน์ เกี่ยวกับการพูดของผู้ที่นับถือลัทธิ Pentecostalism พบว่าการพูดลักษณะนี้สะท้อนวิธีคิดของกลุ่ม เพื่อบอกว่าตนเองต่างไปจากคนอื่น และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม   การศึกษาอื่นๆยังมีการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางวัฒนธรรมและชีววิทยา เช่น การศึกษาของจูดิธ กัสส์เลอร์ เชื่อว่าอาการเครียดและขาดอาหารมีส่วนทำให้เกิดสภาวะคุ้มคลั่งและควบคุมตัวเองไม่ได้  ปัจจัยเกี่ยวกับการยังชีพ การทำมาหากิน สภาพแวดล้อม และแบบปฏิบัติทางสังคมอาจเป็นตัวกำหนดให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม การกระทำ อารมณ์และความรู้สึก  สภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปอาจมีลักษณะคล้ายการถูกผีสิง     การขาดแร่คัลเซียมอาจทำให้เกิดอาการจิตหลอนได้เช่นกัน   การศึกษาทางด้านประสาทวิทยาเชื่อว่า อาการที่คล้ายการถูกผีสิงเป็นสิ่งที่พบได้กับคนทุกคน มิใช่เป็นอาการป่วยของคนบางคนแต่อย่างใด

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *