Symbolic Anthropology ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Symbolic Anthropology


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

         แนวคิดเกี่ยวกับระบบสัญลักษณ์ เป็นประเด็นที่สำคัญในทางมานุษยวิทยา เนื่องจากมีส่วนในการอธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรม  สัญลักษณ์เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ในการที่จะสร้างระบบความหมายต่างๆให้กับโลกและธรรมชาติ  มนุษย์จึงเป็นผู้สร้างสัญลักษณ์ของจักรวาล ซึ่งส่งผลทั้งในทางปฏิบัติและความคิด  นักปรัชญาเอิร์นส คาสซิเรอร์ กล่าวไว้ว่า ความจริงทางกายภาพถูกทำให้กลายเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ของมนุษย์ มนุษย์จะเปลี่ยนความหมายของตัวเองให้เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นภาษา งานศิลปะ สัญลักษณ์เกี่ยวกับตำนาน หรือพิธีกรรมทางศาสนา สัญลักษณ์เหล่านี้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นอกจากจะใช้เครื่องหมายที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นเครื่องมือถ่ายทอด

          เลสลี่ ไวท์ อธิบายว่า พฤติกรรมของมนุษย์ประกอบด้วยการใช้สัญลักษณ์ สัญลักษณ์คือจักรวาลของมนุษยชาติ     ในขณะที่สัญลักษณ์คือประสบการณ์ที่แจ่มชัดของมนุษย์  แต่การเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์เป็นสิ่งที่คลุมเคลือ  การศึกษาในทางปรัชญาและศิลปะพยายามหยั่งรู้และตรวจสอบความหมายของสัญลักษณ์ตลอดเวลา  แนวคิดโรมแมนติกที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 พยายามที่จะศึกษาระบบสัญลักษณ์โดยเชื่อว่าความหมายปรากฏขึ้นกับวัตถุต่างๆ  อารมณ์เป็นสิ่งที่ปกคลุมสติปัญญา  และความลึกลับมีอยู่ในเรื่องสามัญ  สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดสัญลักษณ์ที่ท้าทายให้เกิดการศึกษา

          โทมัส คาร์ไลล์ อธิบายว่าสัญลักษณ์บางอย่างเกิดขึ้น และดำรงอยู่อย่างถาวร  โจฮันน์ จาค็อบ บาโชเฟ่นได้ศึกษาระบบสัญลักษณ์เกี่ยวกับความตาย ชี้ให้เห็นว่าพลังอำนาจของสัญลักษณ์ก่อให้เกิดการสร้างสำนึก   ในเชิงจิตวิทยาได้ศึกษาสัญลักษณ์ในเชิงทฤษฎีและการรับรู้ อธิบายว่าสัญลักษณ์คือการแสดงออกของกระบวนการแห่งจิตใต้สำนึก  ในเรื่อง Interpretation of Dreams ของฟรอยด์ในปี ค.ศ. 1900 อธิบายว่าความฝันเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับความนึกคิด

          ในทางมานุษยวิทยาอธิบายสัญลักษณ์แตกต่างออกไป โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักมานุษยวิทยาพยายามอธิบายลักษณะของสัญลักษณ์มากกว่าการสร้างทฤษฎีแบบฟรอยด์  เช่นการศึกษาของลิวอิส เฮนรี มอร์แกน  อธิบายระบบสัญลักษณ์ในพิธีกรรม White Dog ของชนเผ่า Iroquois   การศึกษาของฟรานซ์ โบแอส อธิบายว่างานศิลปะของชนพื้นเมืองมิได้สร้างขึ้นมาเพื่อความงาม หากแต่เป็นสัญลักษณ์ทางความคิด  โบแอสชี้ให้เห็นว่าแบบแผนและความหมายในงานศิลปะของชนพื้นเมืองในเขตอเมริกาเหนือมีความแตกต่างกัน ถึงแม้จะมีรูปลักษณ์ที่คล้ายกันก็ตาม

          ในเชิงทฤษฎี  ระบบสัญลักษณ์มีนัยยะที่สำคัญสองประการ  ประการแรกอธิบายจากมุมมองมานุษยวิทยาสังคมในอังกฤษ เชื่อว่าสัญลักษณ์คือการกระทำทางสังคม โดยพิจารณาได้จากการประกอบพิธีกรรม ประการที่สอง อธิบายจากมุมมองทางวัฒนธรรมสกุลอเมริกัน เชื่อว่าระบบสัญลักษณ์คือแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่องวัตถุนิยมทางวัฒนธรรม   มานุษยวิทยาสกุลอังกฤษชี้ว่าระบบสัญลักษณ์คือการแสดงความหมายผ่านเหตุการณ์และวัตถุสิ่งของ  สัญลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่มองเห็นได้และเป็นตัวแทนของการกระทำต่างๆ ส่วนมานุษยวิทยาสกุลอเมริกันเชื่อว่าพฤติกรรมและความคิดมีการถ่ายทอดเป็นสัญลักษณ์เพื่อสะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรม

          มานุษยวิทยาสังคมได้รับความคิดเรื่องสัญลักษณ์มาจากเดอร์ไคม์ และพัฒนาต่อมาด้วยทฤษฎีหน้าที่นิยมของเรดคลิฟฟ์-บราวน์     อีมิล เดอร์ไคม์ อธิบายเรื่องพิธีกรรมทางศาสนาว่าเกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความเป็นเอกภาพของระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม  ส่วนเรดคลิฟฟ์-บราวน์ อธิบายว่าพิธีกรรมคือการแสดงออกทางสังคม และช่วยตอกย้ำโครงสร้างทางสังคมที่สำคัญ     ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการตั้งคำถามว่าการกระทำต่างๆมีความหมายอย่างไร เพื่อที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดทางสังคมของชนพื้นเมืองที่สื่อออกมาทางสัญลักษณ์และพิธีกรรม เช่น  มาร์เซล กรีอูล ศึกษาชนเผ่าโดกอน  และ การศึกษาของโมนิกา วิลสันในชนเผ่า Nyakyusa  การศึกษาของวิคเตอร์ เทอร์เนอร์ ในปี ค.ศ.1958 เรื่อง Symbols in Ndembu Ritual เป็นการศึกษาระบบสัญลักษณ์โดยผ่านพิธีกรรม ซึ่งมีการพัฒนาในเชิงกรอบความคิดทฤษฎีที่ชัดเจน

          มานุษยวิทยาสายวัฒนธรรม อธิบายว่าวัฒนธรรมคือสัญลักษณ์ในตัวเอง  และมิใช่การสร้างความหมายเพียงหนึ่ง หรือเป็นเรื่องสามัญ  จากการศึกษาวัฒนธรรมหลายแห่งจะพบความแตกต่างของความหมาย  คลิฟฟอร์ด เกียร์ต กล่าวว่าระบบความคิดประกอบด้วยสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อความหมายต่างๆ สัญลักษณ์นี้สร้างมาจากการกระทำและใช้สำหรับสื่อสารความหมายในประสบการณ์ชีวิต  ระบบสัญลักษณ์ที่มีการจัดระเบียบไว้แล้วก็คือแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่อาจควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ เนื่องจากการกระทำต่างๆ และอารมณ์ของมนุษย์ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่คงที่และปรวนแปร

          แนวคิดของเกียร์ตก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยเฉพาะเรื่องการสร้างคำอธิบายในทางมานุษยวิทยา    คาร์ล มาร์กเคยกล่าวว่ารูปแบบทางวัฒนธรรม เช่น ศิลปะ ศาสนา ครอบครัว เป็นผลสะท้อนเชิงวัตถุวิสัยของวัฒนธรรมขั้นพื้นฐานซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบเพื่อการผลิต   แต่การศึกษาทางมานุษยวิทยาสัญลักษณ์ ไม่เชื่อว่าวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นจากวัตถุวิสัย เพราะประสบการณ์ของมนุษย์ล้วนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และต้องผ่านการตีความ   มาร์แชล ซาลินส์ อธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่าสาเหตุเชิงวัตถุ คือผลผลิตของระบบสัญลักษณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการตรวจสอบ  ถ้าหากไม่มีการการศึกษาสัญลักษณ์ในเชิงวัฒนธรรมแล้ว  เราก็จะมองไม่เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแบบแผนทางวัฒนธรรมกับสภาพทางวัตถุวิสัย ข้อถกเถียงที่ต่างกันสองแบบนี้ คือความแตกต่างระหว่างทัศนะที่เชื่อว่าชีวิตคือการแสดงออกด้วยอารมณ์เชิงสัญลักษณ์ กับทัศนะที่เชื่อว่าชีวิตคือการปฏิบัติเชิงวัตถุอย่างมีเหตุผล  ข้อแตกต่างนี้เกิดขึ้นกับการศึกษาทางมานุษยวิทยามายาวนาน

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *