Swidden Agriculture ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Swidden Agriculture


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

          Swidden Agriculture หมายถึง เกษตรกรรมแบบถางโค่นและเผาป่า หรือบางครั้งเรียกว่า Slash-and-burn  เกษตรกรรมแบบนี้ใช้เครื่องมือง่ายๆในการโค่นและเผาป่า เช่น ขวาน และจอบ  เกษตรกรรมแบบโค่นป่าจำเป็นต้องใช้ไฟในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก  โดยปกติจะใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 1-3 ปี และปล่อยทิ้งวางไว้จนกระทั่งต้นไม้เติบโตขึ้นมาแทนที่จึงกลับมาเพาะปลูกในที่เดิม  การเตรียมที่ดินของชาวนาจะใช้การฆ่าต้นไม้ให้ตายโดยการลอกเปลือก เมื่อต้นไม้ตายก็จะตัดไม้ออกไป จากนั้นจึงทำการเผาเพื่อให้เกิดพื้นที่โล่งสำหรับเพาะปลูก   ขี้เถ้าจาการเผาจะกลายเป็นปุ๋ยสำหรับพืช   พืชที่ใช้ปลูกได้แก่ น้ำเต้า ข้าว องุ่น และ พืชที่มีหัวอยู่ในดิน หลังจากเพาะปลูกไม่นานนักก็จะมีการเก็บเกี่ยว  ชาวนาอาจย้อนกลับมายังที่เดิมเพื่อขุดหัวเผือกหัวมันที่ปลูกไว้มาเป็นอาหาร พืชพวกนี้อาจขึ้นปะปนกับต้นไม้อื่นๆหลังจากที่ว่างเว้นในการใช้ที่ดินไประยะหนึ่ง 

          จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าในช่วงยุคหินใหม่ มนุษย์เริ่มรู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง ทำให้มนุษย์อยู่ในที่อยู่อาศัยเดิมเป็นเวลานาน มีเวลามากพอในการเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นอาหาร เช่น ในเขตลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย

          การจัดระเบียบทางสังคมเพื่อควบคุมแรงงานและการใช้ที่ดินในเกษตรกรรมแบบโค่นป่า  ชาวนาจะมีสิทธิเลือกที่ดินสำหรับเพาะปลูกได้อย่างอิสระ แต่ผู้ควบคุมในการใช้ที่ดินคือหัวหน้าหมู่บ้าน หรือหัวหน้าเผ่า ผลผลิตที่ได้จากการเพาะปลูกจะนำมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกในเผ่า หัวหน้าเผ่าจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ถ้าหัวหน้าทำหน้าที่ไม่ได้ก็จะมีการเลือกคนใหม่ และพิธีกรรมในการจัดการความขัดแย้งก็มีความสำคัญมาก 

          หัวหน้าเผ่าจะปกครองสมาชิกและดูแลที่ดินที่ใช้เพาะปลูก  ตัวอย่างเช่น ในนิวกินี  การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจกระทำโดยการแต่งงานภายในกลุ่มของตัวเอง คนในเผ่าจะมีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจในกลุ่มเครือญาติ การแต่งงานจะเป็นการได้แรงงานในการเพาะปลูก ซึ่งอาศัยกฎการสืบตระกูลข้างพ่อหรือข้างแม่     ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านในเขตตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยผู้ชายต้องแต่งงานไปอยู่บ้านของผู้หญิง เป็นแรงงานในครัวเรือนของฝ่ายหญิง หลังจากนั้น เมื่อสามีภรรยาเริ่มมีฐานะมั่นคงก็จะย้ายไปอยู่บ้านของสามี

          เกษตรกรรมแบบโค่นป่าอาจทำได้ในระยะสั้นๆ เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นก็ต้องมีการตัดไม้มากขึ้น เพื่อนำไม้ไปใช้ประโยชน์  การใช้ที่ดินเพื่อเพาะปลูกก็อาจเข้มข้นขึ้น ระยะเวลาทิ้งพื้นดินให้ว่างก็อาจน้อยลง ป่าก็จะไม่มีเวลาฟื้นตัว  รัฐบาลสมัยใหม่อาจมองเห็นว่าเกษตรกรรมแบบโค่นป่าสร้างปัญหา เพราะเป็นการทำลายความอุดมสมบูรร์ของธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร   ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเข้าไปอ้างสิทธิครอบครองที่ดินและประกาศห้ามใช้ที่ดินเพื่อเพาะปลูก หรือจำกัดเขตให้ชาวบ้านทำการเพาะปลูกได้ในเขตเล็กๆ

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *