Sustainable Agriculture
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ความหมาย:
เกษตรกรรมแบบเลี้ยงตัวเอง หมายถึง การเพาะปลูกที่ลงทุนต่ำ และเป็นการผลิตเพื่อเลี้ยงคนในครัวเรือน หรือชุมชน การเลี้ยงตัวเองคือการให้ความสนใจต่อสังคม ให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ การเกษตรแบบนี้จะคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับการดำรงชีพของมนุษย์ ผู้ทำการเพาะปลูกจะรู้จักควบคุมการใช้ที่ดินและน้ำให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่ดำรงอยู่ การเกษตรแบบเลี้ยงตัวเองจะมีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน จะมีพืชหลายชนิดปลูกอยู่รวมกันเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าสังคมเกษตรกรรมช่วยทำให้มีอาหารเลี้ยงประชากรจำนวนมาก แต่เมื่อดินเสื่อมคุณภาพทำให้อาหารมีน้อยลง รวมถึงปัญหาการปลุกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ การตัดไม้ การถางป่า และดินเค็มก็ทำให้เกษตรกรรมไม่ได้ผล เช่น วัฒนธรรมคาโฮเกียในเขตลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี้ในช่วง ค.ศ.800-1,200 มีการปลูกพืชชนิดเดียวที่เลี้ยงประชากรประมาณ 1 หมื่นคน ปัจจุบันในเขตป่าลุ่มน้ำของกัวเตมาลา เบลิซ และบางส่วนของเม็กซิโก ชาวมายาเคยสร้างเมืองขนาดใหญ่ในบริเวณนี้เป็นเวลาหลายร้อยปี เมืองหลายเมืองถูกทิ้ง เพราะแห้งแล้งและทำการเพาะปลูกไม่ได้ เนื่องจากดินสึกร่อนและเค็ม ในเขตชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนของแอฟริกาเหนือ ซึ่งปัจจุบันเป็นทะเลทรายในอัลจีเรียและลิเบีย ในอดีตเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งชาวโรมันเข้ามาตั้งรกราก ในอาณาจักรเมโสโปเตเมียมีการตัดไม้จำนวนมากทำให้เกิดความแห้งแล้ง ดินมีความเค็มและละลายลงในน้ำ
ตรงข้ามกับพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกที่ได้ผลผลิตดีเป็นเวลานาน เช่น การปลูกข้าวในระบบชลประทานของจีน ญี่ปุ่น และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเกษตรกรมบนภูเขาในสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นการเพาะปลูกแบบเลี้ยงตัวเอง ซึ่งไม่มีปัญหาการเสื่อมโทรมและพังทลายของดิน หรือปัญหาน้ำเสีย ระบบเกษตรกรรมแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับประชากรจำนวนมาก และการมีที่ดินจำกัด ชาวนาจะมีที่ดินทำกินจำนวนน้อย ใช้แรงงานในครัวเรือน มีการปลุกพืชหมุนเวียน และมีการเลี้ยงสัตว์ เมื่อไม่มีงานในไร่นา ชาวนาก็จะทำงานอื่นๆที่สร้างรายได้ให้ครัวเรือน เกษตรกรรมแบบนี้เป็นการรักษาสภาพแวดล้อม มีผลผลิตดี และเลี้ยงสมาชิกในครัวเรือนได้ ส่วนชาวนาในสังคมอุตสาหกรรมพยายามที่จะใช้ตัวอย่างจากเกษตรกรรมในสังคมขนาดเล็ก
ในประเทศอุตสาหกรรม ที่ดินมีจำนวนมาก มีการใช้เครื่องจักรในการเกษตร เกษตรกรรมรายย่อยบางรายอาจใช้วิธีการเพาะปลูกแบบธรรมชาติเพื่อมิให้ดินเสื่อคุณภาพ เกษตรกรอาจใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี เพื่อทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ เช่น ปุ๋ยจากมูลสัตว์ เป็นต้น เมื่อถึงฤดูหนาวจะมีการปลูกพืชคลุมดิน ชาวข้าวโอ๊ต, อัลฟัลฟ่า, ข้าวไรย์ เป็นต้น พืชจะช่วยการพังทลายของดิน ป้องกันการสึกกร่อนจากน้ำกัดเซาะ เกษตรกรบางคนกล่าวว่าการเลี้ยงสัตว์จะช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
ขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรรมแบบเลี้ยงตัวในประเทศอุตสาหกรรม มีสาเหตุมาจากการคิดถึงอนาคตของลูกหลาน ถ้าชาวนายังคงเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงคนจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการเพาะปลูกแบบรักษาธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกเพื่อการค้า และในบางพื้นที่ก็ประสบผลสำเร็จมากกว่าเกษตรกรรมแบบเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม เกษตกรรมแบบเลี้ยงตัวเองยังเป็นเรื่องที่ต้องคิดอีกมากเพราะวิธีการเพาะปลูกแบบนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)