Superorganic
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ความหมาย:
แนวคิด superorganic หมายถึงแบบแผนโครงสร้างสังคมที่ยึดโยงให้องค์ประกอบหรือหน่วยย่อยๆทางสังคมดำรงอยู่ได้ คำว่า superorganic เป็นคำที่เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์บัญญัติขึ้นมา เพื่อที่จะอธิบายวิวัฒนาการของสังคม โดยแยกประเภทสังคมเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่หนึ่งเรียกว่า inorganic ระดับที่สองเรียกว่า organic และระดับที่สามคือ superorganic สังคมระดับที่สามคือสังคมที่สมบูรณ์แบบเต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งจะมีทั้งการกระทำของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ความหมายของ superorganic ตามที่กล่าวมานี้สามารถนำไปใช้กับพฤติกรรมทางสังคมของสัตว์ เนื่องจากสเปนเซอร์เชื่อว่าพฤติกรรมมีค่าเท่ากับวัฒนธรรมของมนุษย์
อัลเฟรด โครเบอร์ ได้นำแนวคิดของสเปนเซอร์ในบทความเรื่อง The Superorganic มาสู่วงการมานุษยวิทยาในปี ค.ศ. 1917 โครเบอร์มีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์กับวัฒนธรรม สเปนเซอร์ตั้งข้อสมมุติฐานว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นนั้นอาจอธิบายได้จากความแตกต่างทางเผ่าพันธุ์ แต่โครเบอร์สนับสนุนคำอธิบายว่าความแตกต่างระหว่างชาติไม่ได้เกิดขึ้นจากเรื่องเผ่าพันธุ์ แต่เกิดมาจากพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน
ความคิดหลักเกี่ยวกับเรื่อง Superorganic ของโครเบอร์ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ หากแต่เป็นเรื่องแบบแผนทางวัฒนธรรม กับทางเลือกของปัจเจกบุคคล เขากล่าวว่าอารยธรรมเกิดขึ้นได้เพราะมนุษย์เป็นผู้สร้าง นอกจากนั้นเขายังอธิบายเกี่ยวกับเรื่องวงจรของวัฒนธรรมที่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งพบเห็นได้ในการเจริญและตกต่ำของปรัชญา วิทยาศาสตร์และศิลปะ หรือสังเกตได้จากการเฟื่องฟูและซบเซาของแฟชั่นผู้หญิงในสังคมยุโรป เป็นต้น
โครเบอร์เชื่อว่าคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมในมิติทางจิตวิทยาและชีววิทยาเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้น เพราะเป็นการอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ขาดมิติทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์อธิบายความเป็นเหตุและผล แต่ไม่อาจนำไปใช้อธิบายอารยธรรมที่แตกต่างกันได้ เลสลี ไวท์ มีแนวคิดคล้ายๆกับโครเบอร์เช่นกัน ไวท์อาศัยแนวคิดของสเปนเซอร์และคอมท์เป็นแนวทาง และโต้แย้งว่าการศึกษาวัฒนธรรมต้องมีศาสตร์ที่แตกต่างออกไป ไวท์เรียกการศึกษาศาสตร์ของวัฒนธรรมว่า Culturology คำๆนี้ถูกใช้ตรงคำความหมายของนักเคมีชื่อ วิลเฮล์ม ออสต์วอลด์
ไวท์เชื่อว่าวัฒนธรรมเปรียบเสมือนวัตถุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีวิถีชีวิตและมีกฎเกณฑ์เป็นของตัวเอง กฎเกณฑ์เหล่านี้พิจารณาได้จากวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน โดยเริ่มต้นจากความเรียบง่ายไปสู่ความซับซ้อนเพิ่มขึ้น และมีการใช้พลังงานมากขึ้นด้วย ความคิดนี้ต่างไปจากโครเบอร์ซึ่งมองวัฒนธรรมในมิติประวัติศาสตร์ซึ่งวัฒนธรรมแต่ละแห่งย่อมมีลักษณะเฉพาะตัว แนวคิดของไวท์เป็นการมองจากทัศนะวัตถุนิยม หรือ Materialism ซึ่งมองดูวัฒนธรรมเป็นลำดับขั้นวิวัฒนาการ และการปรับตัว เช่นอธิบายการเปลี่ยนแปลงจากสังคมยุคหินเก่าไปสู่ยุคหินใหม่ หรือเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม เป็นต้น
ในทางสังคมวิทยา อีมิล เดอร์ไคม์คือนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่พยายามใช้แนวคิดวิทยาศาสตร์มาอธิบายโครงสร้างทางสังคม ประเด็นสำคัญของเดอร์ไคม์คือเรื่อง “ข้อเท็จจริงทางสังคม” (social facts) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุผลที่ควบคุมการกระทำ ความคิด และอามรณ์ของบุคคล ตัวอย่างของข้อเท็จจริงทางสังคม เช่น แบบแผนของเครือญาติ การแต่งกาย พิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนระเบียบทางสังคม มิใช่เป็นเรื่องทางอารมณ์หรือประสบการณ์ส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง แนวคิดนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพัฒนาการของการศึกษามานุษยวิทยาสังคมในอังกฤษ โดยเฉพาะแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมีการถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง superorganic อย่างจริงจัง มีความพยายามที่จะตีความนิยามเกี่ยวกับวัฒนธรรมโดยใช้แนวคิดเรื่องบุคลิกภาพ ประเด็นเรื่อง superorganic ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นทางเลือกชนิดหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นแนวคิดที่ชัดเจนในการนิยามวัฒนธรรมโดยไม่สนใจมิติทางประวัติศาสตร์และทางเลือกของบุคคลในการทำสิ่งต่างๆ
เอ็ดเวิร์ด ซาเปียร์ ลุกขึ้นมาโต้เถียงว่าวัฒนธรรมทุกแห่งมีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาโดยบุคคลเป็นผู้กระทำ ดังนั้นการแบ่งแยกว่าอะไรคือส่วนรวม ส่วนตัว อะไรคือวัฒนธรรม หรือจิตวิทยาจึงอธิบายไม่ได้ ซาเปียร์อธิบายว่าวัฒนธรรมสะท้อนการกระทำ ความคิด ความฝัน และการกบฎของมนุษย์ ซึ่งอาจเป็นการกระทำจากมวลชน และเราเรียกว่าข้อมูลทางสังคมซึ่งเราไม่ได้ดูมิติทางประวัติศาสตร์หรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเลย ตรรกะในแนวคิดเกี่ยวกับ superorganic จึงถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในปี ค.ศ.1928 ฟรานซ์ โบแอส แสดงความเห็นว่าวัฒนธรรมมิใช่ตัวตนปริศนาที่ดำรงอยู่นอกสังคมมนุษย์ และโลดแล่นได้อย่างอิสระ
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ข้อถกเถียงและการหาคำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรม ได้เปลี่ยนไป เนื่องจากเกิดแนวคิดทฤษฎีที่หลากหลาย แต่ข้อโต้เถียงคู่ตรงข้ามระหว่างแนวคิดทางสังคมที่เชื่อโครงสร้างสากล กับแนวคิดทางจิตวิทยาที่เชื่อการกระทำของบุคคลยังคงดำเนินต่อไป ตัวอย่างเช่น การอธิบายเรื่องแม่มด ข้อโต้เถียงที่ควบคู่กันคือเรื่องอิสระในการกระทำส่วนบุคคล ตรงข้ามกับการถูกสังคมบังคับให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อถกเถียงเรื่อง superorganic ยังพบในการอธิบายลักษณะของความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมด้วย กล่าวคือวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องของบุคคล บุคคลมีส่วนกำหนดและสร้างสรรค์วัฒนธรรม เป็นมุมมองแบบ ethnoscience ตรงข้ามกับความหมายของวัฒนธรรมที่เชื่อในความเป็นสากล หรือเป็นเรื่องของมวลชน เป็นการศึกษาในเชิงสัญลักษณ์
แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)