Structuralism ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Structuralism


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

      Structuralism หรือโครงสร้างนิยม หมายถึงทฤษฎีที่ใช้อธิบายความสัมพันธ์ทางสังคม โดยเชื่อว่าสังคมประกอบด้วยระบบและโครงสร้างที่หน่วยต่างๆต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างมีกฎและระเบียบที่ชัดเจนตายตัว ทฤษฎีเกิดขึ้นพร้อมการความเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางด้านปรัชญาและส่งผลให้เกิดปรับวิธีคิดในหลายสาขา    ในทางมานุษยวิทยา แนวคิดโครงสร้างนิยมอาจมีที่มา 3 ประการ คือ  หนึ่ง เป็นความพยายามที่จะอธิบายแบบแผนชีวิตทางสังคมโดยใช้จิตใจของมนุษย์เป็นมาตรฐาน  สอง เป็นการสันนิษฐานว่าวัฒนธรรมคือแบบแผนของการใช้ภาษาและถ่ายทอดออกมาโดยสัญลักษณ์ สามเป็นการตีความระบบสัญลักษณ์โดยใช้วิธีคิดของคู่ตรงข้าม โครงสร้าง และองค์รวม

        ในทางมานุษยวิทยา นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส คือคลอด เลวี-เสตราส์ เป็นผู้อธิบายแนวคิดนี้          โรเจอร์ คิงซิ่งกล่าวว่าแนวคิดของเลวี-เสตราส์พยายามมองวัฒนธรรมเป็นระบบสัญลักษณ์ที่เกิดจากจิตใจของมนุษย์   เลวี-สเตราส์ต้องการค้นหาโครงสร้างทางวัฒนธรรม ซึ่งมีอยู่ในตำนาน ศิลปะ เครือญาติ ภาษา  โครงสร้างเหล่านี้ถูกกำหนดมาจากจิตใจ และแสดงออกมาทางวัฒนธรรม

       อีมิล เดอร์ไคม์ นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส สร้างทฤษฎีเกี่ยวกับโครงสร้าง และนำไปวิเคราะห์ อธิบายวิถีชีวิตและสังคมซึ่งถูกสร้างด้วยระบบสัญลักษณ์   ในเรื่อง Primitive Classification (1903) เดอร์ไคม์และมาเซล มอสส์ ชี้ให้เห็นแนวคิดเรื่องโครงสร้างทางสังคมซึ่งมีอยู่ระบบคิดเกี่ยวกับตำนาน จักรวาลวิทยา และพิธีกรรม    ปรากฏการณ์เกี่ยวกับ Totemism หรือ การบูชาบรรพบุรุษ คือระบบความสัมพันธ์ในเครือญาติกับบรรพบุรุษผู้ที่เป็นต้นกำเนิดลูกหลาน   เดอร์ไคม์และมอสส์เชื่อว่าการบูชาบรรพบุรุษสะท้อนให้เห็นความคิดและความสามารถของมนุษย์ในการจัดระเบียบชีวิตทางสังคม  นอกจากนั้น การบูชาบรรพบุรุษคือการจัดประเภทของมนุษย์ให้เข้ากับชนิดของสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุในธรรมชาติ และยังเป็นการจัดหมวดหมู่ธรรมชาติให้เข้ากับกลุ่มทางสังคมของมนุษย์ด้วย

        วิธีคิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นคำอธิบายที่เดอร์ไคม์ใช้ศึกษาปรากฏการณ์อื่นๆด้วย เช่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ซึ่งพบเห็นในพิธีกรรมบูชายัญ  กฎการหลีกห่าง การจัดช่วงชั้น และการทำมาหากินในระบบวรรณะของอินเดีย เป็นต้น   กระบวนทางความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างนิยมได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาทางภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะแนวโครงสร้างภาษา ซึ่งมีเฟอร์ดินันด์ ซัสซูร์ เป็นผู้นำทางความคิด     การศึกษาภาษาศาสตร์แนวโครงสร้างเกิดขึ้นโดยมีจุดหมายที่จะโจมตีประวัติศาสตร์ความคิดทางภาษา

       ในช่วงเวลานั้น ความรู้ทางภาษาเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบและการศึกษาในมิติประวัติศาสตร์  ซัสซูร์ได้รับแนวคิดมาจากเดอร์ไคม์ และเชื่อว่าภาษาคือระบบสัญลักษณ์ ส่วนประกอบของภาษาคือระบบความหมายที่เกิดจากโครงสร้างของการแบ่งแยกคู่ตรงข้าม   และโครงสร้างตำแหน่งทางไวยกรณ์    ซัสซูร์อธิบายว่าส่วนประกอบของภาษาคือโครงสร้างที่วิเคราะห์ได้ ภาษาศาสตร์คือศาสตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถอธิบายระบบสัญลักษณ์ที่พบในสังคม

        การศึกษาโครงสร้างทางภาษา คือการวิเคราะห์ระบบภาษาซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  และดูการเปลี่ยนแปลงของภาษาในช่วงสมัยต่างๆ   ซัสซูร์ให้ความสำคัญกับภาษามากกว่าเรื่องการใช้เสียง และการพูด   คำในภาษาทำให้เกิดวลีและประโยค ซึ่งมนุษย์ใช้พูดในชีวิตประจำวัน   คำแต่ละคำจะมีความหมายแตกต่างกัน  ถ้าไม่มีคำก็จะไม่เกิดระบบภาษา    เมื่อนักมานุษยวิทยาแนวโครงสร้างนิยมนำความคิดภาษาไปใช้  จะเป็นการอธิบายโครงสร้างของคู่ตรงข้ามที่ซ่อนอยู่ในการแสดงออกทางวัฒนธรรม

        นักวิชาการบางคนเชื่อว่าแนวคิดโครงสร้างนิยมเกิดขึ้นมาจากแนวทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่แบบสกุลอังกฤษ ซึ่งมีเรดคลิฟฟ์-บราวน์เป็นผู้บุกเบิก   ถึงแม้ว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เดอร์ไคม์จะให้ข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องหน้าที่สังคม   แต่เรดคลิฟฟ์-บราวน์ก็คือผู้ที่นำแนวคิดเรื่องโครงสร้างมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม  ในปี ค.ศ. 1935 เรดคลิฟฟ์-บราวน์อธิบายไว้ว่าความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ดำเนินไปด้วยโครงสร้างที่ถาวรและทำให้กระบวนการของชีวิตทำงานได้ภายใต้หน่วยที่ดูแล   ดังนั้นโครงสร้างในความคิดของเรดคลิฟ์-บราวน์จึงเป็นสิ่งที่คงที่และมีเสถียรภาพ ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมของคนอยู่ใต้ระบบเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับโครงสร้างนิยม ไม่ได้พบในพฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นระบบเหตุผลที่มีอยู่ในแบบแผนทางสังคมและวัฒนธรรม

       มอสส์คือผู้หนึ่งที่ช่วยสร้างแนวคิดโครงสร้างนิยมขึ้นมา   ในเรื่อง The Gift (1925) เป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์สังคมที่น่าสนใจ  มอสส์กล่าวว่าแบบแผนเกี่ยวกับการให้ของกำนัลก็เพื่อทำให้การแลกเปลี่ยนดำเนินต่อไป  การให้ของกำนัลยังเกี่ยวข้องกับโครงสร้างความสัมพันธ์ในสังคมด้วย  การกระทำของบุคคลเกิดขึ้นบนหลักเหตุผล มิใช่เป็นสิ่งเลื่อนลอย  เลวี-เสตราส์กล่าวว่ามอสส์คือนักวิชาการที่ชี้ให้เห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ต่างๆ  การศึกษาของเลวี-สเตราส์ เรื่อง The Elementary Structures of Kinship เป็นการวิเคราะห์ระบบการแลกเปลี่ยนโดยวิธีการแต่งงานในสังคมชนเผ่า การศึกษาเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการศึกษาของมอสส์

        การศึกษาของเลวี-สเตราส์ คือตัวอย่างของความพยายามในการศึกษาจิตใจมนุษย์ในมิติมานุษยวิทยา โดยใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับสภาวะสากลแห่งจิตใจมนุษย์มาอธิบาย    เลวี-สเตราส์กล่าวว่า แบบแผนทางวัฒนธรรมมีส่วนประกอบที่ต่างกัน และมีโครงสร้างเดียวกัน  การศึกษาลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมต้องวิเคราะห์โครงสร้างจิตใจของมนุษย์  ไม่ควรมองแค่เรื่องประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง   นักคิดแนวโครงสร้างนิยมเชื่อว่าพฤติกรรมมีแบบแผนที่ชัดเจน ซึ่งภายใต้แบบแผนพฤกรรมนั้นจะมีกฎสากลที่มนุษย์ทุกคนใช้แสดงออกเหมือนกัน เช่น การสร้างระบบการแลกเปลี่ยน กฎการแต่งงานออก และข้อห้ามการมีเพศสัมพันธ์กับญาติพี่น้องร่วมสายเลือด สิ่งเหล่านี้คือข้อกำหนดของวัฒนธรรมที่ชัดเจน 

        ตัวอย่างการวิเคราะห์ตำนานของเลวี-สเตราส์ คือการศึกษาความหมายของระบบความคิดสากลของมนุษย์ มิใช่การพิจารณาความแตกต่างของวัฒนธรรมย่อยๆ   เช่น การศึกษาตำนานของชาวอินเดียนพื้นเมืองในอเมริกาหลายเผ่า คือการค้นหาโครงสร้างความคิดร่วมกัน ของชนเผ่าต่างๆ ซึ่งมีภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ต่างกัน    แนวคิดโครงสร้างนิยมพยายามศึกษาบุคลิกลักษณะจิตใจของมนุษย์ กล่าวคือพยายามค้นหาระเบียบของความคิดที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม ระเบียบนั้นจะมีรหัสที่คอบควบคุมพฤติกรรม     เลวี-สเตราส์เชื่อว่ารหัสทางความคิดนี้เห็นได้จากการประดิษฐ์สิ่งของทางวัฒนธรรม ที่พบในสังคมชนเผ่า   ชนเผ่าคือผู้สร้างแบบจำลองโลก สังคม และตัวตนให้ปรากฏในวัตถุสิ่งของ   เช่นเดียวกับที่วิทยาศาสตร์ค้นคว้าหากฎของธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล การโคจรของดวงอาทิตย์และพระจันทร์ โครงสร้างของสิ่งมีชีวิต สิ่งเหล่านี้ล้วนมีระเบียบโครงสร้าง

        เลวี-สเตราส์นำความคิดเรื่องโครงสร้างมาประยุกต์ใช้กับเรื่องตำนาน พิธีกรรมและ โครงสร้างทางสังคม ซึ่งกลายเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า ethnoscience หรือระบบความรู้ของท้องถิ่น   แนวคิดโครงสร้างนิยมอีกแบบหนึ่งเป็นของหลุยส์ เดอมองต์ ในเรื่อง Homo Hierarchicus The Caste System and Its Implications  ดูมองต์อธิบายว่าระบบวรรณะของอินเดียมีโครงสร้างที่ชัดเจน  วรรณะแต่ละวรรณะไม่ได้แยกจากกัน แต่มีความสัมพันธ์กัน ภายใต้สังคมที่ประกอบด้วยช่วงชั้นต่างๆหลายประเภท  วรรณะของอินเดีย มีโครงสร้างของคู่ตรงข้าม และแสดงออกผ่านความแตกต่างของอาหาร การใช้แรงงาน และพิธีกรรม ซึ่งโครงสร้างของวรรณะนี้วางอยู่บนแนวคิดเรื่องความสะอาดและสกปรก   วรรณะคือผลพวงของแนวคิดที่แบ่งแยกความแตกต่าง และเชื่อว่าสังคมมีความไม่เท่าเทียมกัน  ดูมองต์เชื่อว่าความคิดนี้เป็นสิ่งสากลและพบในในสังคมตะวันตกด้วย เนื่องจากสังคมตะวันตกยังมีความคลุมเคลือในเรื่องความเสมอภาคทางสังคมอยู่   

        ข้อสมมุติฐานของแนวทฤษฎีโครงสร้างนิยม เข้ามามีบทบาทในการศึกษามานุษยวิทยาสัญลักษณ์ และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาแนวคิดของมาร์กซิสต์ในทางมานุษยวิทยาด้วย  อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดโครงสร้างนิยมยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในหมู่นักมานุษยวิทยา  การศึกษาของเลวี-สเตราส์ ได้รับการยอมรับจากศาสตร์แขนงอื่นๆ โดยเฉพาะปรัชญาและการวิจารณ์วรรณกรรม สิ่งนี้ทำให้รู้ว่าแนวคิดโครงสร้างนิยม คือแนวทฤษฎีทางมานุษยวิทยาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งยังคงสนใจประเด็นพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติ วัฒนธรรม และความคิดมนุษย์ 

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *