State ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

State


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

        รัฐประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ประชาชน พรมแดน และรูปแบบการปกครอง  องค์ประกอบทั้งสามส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญในการบ่งชี้ว่าอำนาจการเมืองแบบใดคือรัฐ  นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าบทบาทของรัฐบาลในรัฐคือทำหน้าที่รักษากฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ และกีดกันหรือขับไล่การกระทำต่างๆให้ออกไปจากรัฐ   บทบาทดังกล่าวนี้บ่งชี้ว่ารัฐบาลมีอำนาจที่จะสร้างกฎและระเบียบที่ประชาชนต้องเคารพเชื่อฟัง ถ้าหากใครไม่เคารพก็จะถูกลงโทษ

          รัฐบาลกลางต้องมีอิทธิพลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อิทธิพลนี้สามารถเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ ตั้งแต่การใช้อำนาจที่โหดเหี้ยมไปจนถึงการยินยอมแบบเห็นใจ  รัฐจะต้องมีอำนาจที่ต่อเนื่องโดยจะต้องมีทั้งการบีบบังคับและยอมตาม  รัฐบาลที่ยอมฟังประชาชนจะเรียกว่ารัฐบาลที่มีระเบียบ ส่วนรัฐบาลที่ใช้อำนาจบังคับมักจะมาจากรัฐที่ผู้นำประเทศมีอำนาจสั่งการ   รัฐสมัยโบราณและรัฐสมัยใหม่มีความต่างกัน  กล่าวคือรัฐโบราณเกิดขึ้นต่างเวลาและสถานที่ รัฐเกิดขึ้นในตะวันออกกลางเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสตกาล เกิดขึ้นในเขตซาฮาร่าและแอฟริกาเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 9  เกิดในโพลินีเซียในคริสต์ศตวรรษที่ 19  การพัฒนาของรัฐสมัยใหม่ไม่ได้ทำให้รัฐโบราณหายไป แต่รัฐโบราณยังคงมีอยู่ในแอฟริกา เช่น รวันดา, บูกันดา และบันโยโร   รัฐในรุ่นแรกๆจะเกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ แตกต่างจากรัฐสมัยใหม่ซึ่งมีอำนาจจากกฎหมาย

          ผู้ปกครองในรัฐรุ่นแรกๆ ถูกเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าและมีความศักดิ์สิทธิ์  อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองมิใช่พระเจ้า หรือเป็นร่างทรงของพระเจ้า  แต่ผู้ปกครองจะมีข้อห้ามหลายประการ และเชื่อว่ามีอำนาจเหนือภาวะเจริญพันธุ์ของสตรี ควบคุมสัตว์เลี้ยง และที่ดิน   ความเชื่อดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ปกครองมีอำนาจในการสร้างกฎระเบียบต่างๆ และผู้ที่จะสืบทอดอำนาจได้แก่ลูกชายคนโตของผู้ปกครอง   รัฐยุคแรกๆในแอฟริกา ลูกชายของผู้ปกครองมักจะได้ครองอำนาจต่อจากบิดา การเข้ารับตำแหน่งผู้ปกครองจะมีพิธีกรรมเพื่อยกฐานะให้เหนือกว่าคนปกติ  เมื่อผู้ปกครองมีอายุมากขึ้น ก็เริ่มมีความไม่มั่นคงในอำนาจ ซึ่งจะต้องเปิดทางให้กับผู้ปกครองคนใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า

          ผู้ปกครองในรัฐยุคแรกๆ ยังเป็นผู้นำทางการเมืองและมีความศักดิ์สิทธิ์ ตราบใดที่ผู้ปกครองรักษาสถานะดีไว้ เขาก็ยังมีอำนาจ แต่ถ้าสถานะเอียงไปทางใดทางหนึ่ง ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาอำนาจไว้ ผู้ปกครองต้องเลือกสถานะระหว่างการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการมีอำนาจทางการเมือง  ถ้าเลือกการเมืองก็ต้องมอบความศักดิ์สิทธิ์ให้กับนักบวชทางศาสนา  การศึกษาในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองมักจะเลือกอำนาจการเมืองและหาผู้แทนมารับหน้าที่ความศักดิ์สิทธิ์ ตัวอย่างเช่น ราชวงศ์ในยุโรปยังคงปกครองด้วยความเชื่อเรื่องพระเจ้า และนำศาสนาคริสต์มาสร้างความศักดิ์สิทธ์ให้ผู้ปกครอง หรือในชวา ผู้ปกครองยังคงมีความเชื่อแบบฮินดูแต่ใช้อิสสามมาปกครองประเทศ

          ในสังคมที่ซับซ้อนจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการบริหารที่ดี คำว่า “ระบบราชการ” ในรัฐสมัยใหม่ อาจหมายถึงระบบการบริหารจัดการ  หน้าที่บริหารมักจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และเครื่องมือการบริหารอาจเป็น ตำรวจ หรือนักสืบ  ในรัฐที่มีคนจำนวนมากและมีพ้นที่ใหญ่ จำเป็นต้องมีการโอนถ่ายอำนาจให้ตัวแทนโดยอาจแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น   รัฐหรือจักรวรรดิที่ซับซ้อนอาจมีการจัดระดับขั้นที่มากกว่า 3 ระดับ เช่น อาณาจักรบูกันดาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผู้ปกครองจะมีอำนาจสูงสุดเรียกว่า “คาบากา”  การปกครองระดับสองเรียกว่า “ซาซาส” ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าเขต 10 คน หัวหน้าในซาซาสมักจะอาศัยในเมืองหลวง  การปกครองระดับสามเป็นระดับหมู่บ้าน โดยมีหัวหน้าหมู่บ้านปกครอง   จากการศึกษาพบว่ารัฐแต่ละแห่งมีพื้นที่ใหญ่ไม่เท่ากัน  รัฐต้องมีรายได้เพื่อนำมาใช้จ่ายด้านต่างๆ โดยเรียกเก็บเงินจากพลเมือง นอกจากนั้นอาจเรียกเก็บเป็นสินค้า หรือแรงงานก็ได้  ในสังคมอุตสาหกรรม จะมีการเรียกเก็บภาษีจากประชาชน  ระบบเศรษฐกิจของรัฐในยุคแรกๆจะขึ้นอยู่กับอำนาจส่วนกลาง ผู้ปกครองจะเป็นผู้เก็บและแจกจ่ายสินค้าและบริการ

          ระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น รัฐบาลจะเป็นผู้ที่รับรายได้เป็นเงินทอง ส่วนประชาชนจะได้รับสิ่งตอบแทนอื่นๆ เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ รัฐบาลก็มีอำนาจคลอนแคลน เช่น การล่มสลายของอาณาจักรแอซเต็ก โรมัน และโซเวียต  ทฤษฎีหลายทฤษฎีเชื่อว่าต้นกำเนิดของรัฐมาจากรูปแบบการเมืองที่ต่างกัน 

          การศึกษารัฐในเชิงประจักษ์ยุคแรกๆ มาจากฟรีดริช แองเกิลส์ เรื่อง The Origin of the Family, Private Property and the State (1884)  อธิบายว่ารัฐเกิดจากความต้องการที่จะปกป้องทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาในปี ค.ศ.1909 นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันชื่อฟรานซ์ อ็อปเพนไฮเมอร์ เขียนหนังสือเรื่อง The State  ซึ่งอธิบายว่ารัฐเกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนเร่ร่อนตั้งหลักแหล่งเพื่อเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม  หลังสงครามโลกครั้งที่สอง นักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีหลายคนก็หันมาศึกษาต้นกำเนิดของรัฐ  จูเลียน สจ๊วต และคาร์ล วิตโฟเกล อธิบายว่าการชลประทานทำให้เกิดการปกครองแบบรัฐ     โรเบิร์ต คาร์ไนโร อธิบายว่ารัฐเกิดมาจากการเพิ่มประชากร  ในปี ค.ศ.1970  คาร์ไนโรสร้างทฤษฎีที่ชื่อว่า circumscription theory โดยกล่าวว่าการเติบโตของประชากรทำให้เกิดสงครามและการแสวงหาดินแดนใหม่

          มาร์แชล ซาลินส์ อธิบายว่าความซับซ้อนของระบบสังคมมีความสัมพันธ์กับขนาดของการผลิต  การศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการของรัฐในระยะเริ่มแรกพบว่า รัฐบางแห่งไม่เป็นไปตามทฤษฎีของซาลินส์  เนื่องจากการเกิดขึ้นของรัฐแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน อาจไม่มีทฤษฎีเดียวอธิบายการเกิดรัฐได้  การเกิดรัฐอาจเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนและมีการบริหารจัดการขนาดใหญ่ มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม หรือมีระบบผู้นำ  การเกิดขึ้นของรัฐอาจมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น การขยายตัวของประชากร สงคราม การขยายดินแดน อุดมคติ และระบบการผลิต ปัจจัยเหล่านี้ไม่มีปัจจัยใดที่สำคัญกว่ากัน แต่ละปัจจัยจะมีความแตกต่างกัน

          อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของรัฐมาจากปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของหลายปัจจัย  องค์ประกอบสำคัญสามส่วนที่อาจทำให้เกิดรัฐ ได้แก่ ระบบความคิด ระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม  องค์ประกอบนี้มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อประชากรขยายตัวจำเป็นต้องมีระบบเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงคนจำนวนมาก  ทำให้เกิดผู้เชี่ยวชาญในการผลิตด้านต่างๆ  และอาศัยระบบความคิดในการจัดระเบียบสังคม ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งช่วงชั้นและฐานะของบุคคล  การเกิดขึ้นของรัฐมิได้มีการวางแผนหรือตั้งใจให้เกิด แต่มาจากกระบวนการทางสังคม  สังคมที่มีการจัดระเบียบสังคมที่ซับซ้อนและเข้มข้นมีแนวโน้มที่จะเข้ามาแทนที่สังคมที่เรียบง่าย  รูปแบบการเมืองแบบรัฐจึงเป็นรูปแบบที่สังคมต่างๆนำมาใช้เพื่อให้สังคมอยู่รอด  รัฐแต่ละแห่งล้วนเผชิญปัญหาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของประชากร การขาดแคลนทรัพยากร หรือการสูญเสียระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม  ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐในรุ่นแรกๆได้พัฒนาไปถึงขั้นสูงสุด แต่บางรัฐก็เสื่อมถอยหรือล่มสลาย  รัฐรุ่นแรกในแอฟริกาไม่มีพัฒนาการก้าวหน้าถึงขั้นสูงสุด  ส่วนรัฐของชนพื้นเมืองในอเมริกาก็ล่มสลายไป  รัฐรุ่นแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น นครวัด เมืองพุกาม และอยุธยา เจริญถึงขั้นสูงสุดหลังจากที่ได้รับระบบความคิดแบบฮินดู  ระดับความเจริญของรัฐอาจขึ้นอยู่กับระบบการจัดระเบียบสังคมและรูปแบบองค์กรการบริหาร

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *