Sorcerer ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Sorcerer


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

        พ่อมดหรือหมอผี หมายถึงบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับเวทมนต์คาถาและสามารถใช้เวทมต์คาถาเพื่อทำให้เกิดผลบางอย่างในโลกทางวัตถุ พ่อมดหมอผีมักจะเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดอันตราย หรือเป็นเรื่องที่มุ่งร้าย และยังเชื่อว่าพ่อมดหมอผีทำหน้าที่เกี่ยวกับการสมสู่ทางเพศ การกินเนื้อมนุษย์ กินทารก และซากศพ  ทำให้พืชผลทางการเกษตร เสียหาย  สัตว์เลี้ยงล้มตาย ทำให้คนในครอบครัว ญาติมิตร และชุมชนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย   นอกจากนั้นพ่อมดหมอผียังแปลงโฉมตัวเองเป็นสัตว์ต่างๆได้

          พ่อมดหมอผีมักจะมีฐานะทางสังคมที่ต่ำ ยากจนและขาดอำนาจทางการเมือง  คนเหล่านี้มักทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการส่วนตัวของบุคคล แต่บางทีอาจทำหน้าที่คล้ายลูกค้า  ในสังคมส่วนใหญ่ พ่อมดหมอผีอาจเป็นได้ทั้งชายและหญิง และมีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะ แต่พวกเขาก็มิได้มีชีวิตอยู่เพียงสิ่งนี้เท่านั้น  บุคคลที่อยู่ในสถานะเป็นหมอผีหรือพ่อมดจะต้องผ่านการตีตราทางสังคม และมักจะถูกฆ่าเนื่องจากทำให้สังคมได้รับอันตรายการเวทมนต์คาถา  พ่อมดหมอผีบางคนอาจได้รับความเชี่ยวชาญนี้มาจากญาติพี่น้อง  แต่โดยทั่วไปคนเหล่านี้จะมีพลังอำนาจได้โดยการแปลงร่างเป็นสัตว์หรือเหาะเหินเดินอากาศ คล้ายๆกับพวกหมอรักษาโรค

          พ่อมดหมอผีมักจะมีอำนาจเหนือวิญญาณ และอำนาจส่วนตัวอื่นๆ  ผลกระทบของอำนาจของพ่อมดหมอผีมักจะมาจากการกระทำโดยเจตนา เช่น คาถา อาคม คำสาปแช่ง มนต์สะกด ปลุกเสกวัตถุ สะกดวิญญาณ เป็นต้น   ผลกระทบยังอาจมาจากแรงอิฉาริษยา และความโกรธเคือง   ผลกระทบนี้เป็นด้านที่แตกต่างกันระหว่างหมอผีกับพ่อมดซึ่งศึกษาโดย อีวานส์ พริชชาร์ด กล่าวคืออำนาจของหมอผีเป็นการกระทำที่ตั้งใจ ส่วนพ่อมดเป็นเรื่องของจิตที่ไม่รู้ตัว  ผู้ที่มีพฤติกรรมแบบพ่อมดพบได้ในสังคมที่มีการจัดระเบียบทางการเมืองเข้มข้น ในขณะที่หมอผีจะไม่ค่อยปรากฏเท่าใดนัก ตัวอย่างในสังคมชนเผ่าอะเซนเดในแอฟริกา พบว่าการกระทำของพ่อมดสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่ไม่ดีและเป็นลางร้าย

          คลักโคน(1944) อธิบายว่าในชนพื้นเมืองเผ่านาวาโฮของอเมริกา เชื่อว่าเวทมนต์คาถาเกี่ยวข้องกับการแสดงความก้าวร้าว ความรู้สึกผิด ความโชคร้าย และความปรารถนา พฤติกรรมต้องห้ามต่างๆจะถูกอธิบายด้วยเวทมนต์ เช่น การร่วมประเวณีระหว่างคนในครอบครัว ชาวนาวาโฮเชื่อว่าพ่อมนจะรับเคราะห์แทนคนอื่น และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพ่อมดก็จะสะท้อนวิธีการแก้ปัญหาทางอารมณ์ของชาวนาวาโฮ

          จากการศึกษาข้ามวัฒนธรรมพบว่าการเป็นพ่อมดหมอผีมีต้นกำเนิดมาจากการเป็นหมอรักษาโรคในชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งถูกตามรังขวานจากอำนาจการเมืองและสังคม  การมีอยู่ของหมอผี พ่อมดและหมอรักษาโรคอาจดูได้จากลักษณะบางประการ เช่น การทำเรื่องที่ชั่วร้าย การใช้เวทมนต์เพื่อการฆ่า การท่องราตรี การแปลงร่างเป็นสัตว์ การกินร่างกายและวิญญาณของเหยื่อ และการเหาะเหินเดินอากาศ เป็นต้น  เคปเฟอร์เรอร์ (2003) อธิบายว่าความเชื่อเกี่ยวกับพ่อมดหมอผีและเวทมนต์ในโลกปัจจุบันสะท้อนให้เห็นช่องว่างทางสังคมซึ่งคนที่ประสบโชคร้ายและไม่มีโอกาสทางสังคมจะหันมาแสดงตัวตนผ่านความเชื่อเหล่านี้

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *