Religion ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Religion


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

        นักมานุษยวิทยาอธิบายว่าศาสนาคือกฎระเบียบที่ใช้สั่งสอน   ศาสนาเปรียบเสมือนเป็นสถาบันทางสังคมที่ถ่ายทอดระบบความคิดและความเชื่อทางศีลธรรม อีมิล เดอร์ไคม์ กล่าวว่า ศาสนาคือระบบความเชื่อและการปฏิบัติที่เป็นเอกภาพซึ่งเกิดขึ้นต่อสิ่งศักสิทธิ์ทั้งหลาย นักศาสนวิทยาพยายามศึกษาความหมายและสัญลักษณ์ต่างๆเกี่ยวกับกฎระเบียบข้อบังคับ การปฏิบัติตน และสร้างเหตุผลให้กับสิ่งที่คาดเดาไม่ได้  

          ในทางมานุษยวิทยา ให้ความสำคัญกับสังคมขนาดเล็กที่ไม่มีตัวหนังสือและใช้ระบบเครือญาติเป็นพื้นฐานทางสังคม  นักมานุษยวิทยาพบว่าในสังคมประเภทนี้ ศาสนาไม่มีระเบียบแบบแผนหรือกฎข้อบังคับที่ชัดเจน ดังนั้นนิยามของศาสนาอาจต้องมีการแก้ไข    เอ็ดเวิร์ด ไทเลอร์ พยายามอธิบายความหมายของศาสนาว่า หมายถึงความเชื่อเรื่องวิญญาณ    ต่อมามิลฟอร์ด สปิโร อธิบายความหมายเพิ่มเติมว่าศาสนาคือสถาบันที่ประกอบด้วยการปฏิสังสรรค์ทางวัฒนธรรมแบบต่างๆซึ่งสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในวัฒนธรรมนั้น

          แนวคิดศาสนาของสปิโร เป็นการเปลี่ยนความสนใจจากเดิมซึ่งเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อในมิติจิตวิทยา เปลี่ยนไปสู่ประเด็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนวิธีคิด โลกทัศน์ของสังคม และจะพบเห็นได้ในพิธีกรรม   การศึกษาที่ต่างไปของคลิฟฟอร์ด เกิร์ตซ์ อธิบายว่าศาสนาเป็นเรื่องของประสบการณ์ หรือปรากฏการณ์ทางสังคม  เขาอธิบายว่าศาสนาคือระบบสัญลักษณ์ซึ่งนำไปสู่การสร้างพลังอำนาจ การครอบงำ อารมณ์ร่วม และการโน้มน้าวจิตใจ โดยอาศัยระเบียบแบบแผนที่สร้างไว้  ระเบียบดังกล่าวนี้จะถูกประดิษฐ์ด้วยเรื่องราวความจริงต่างๆที่สัมผัสได้และมีผลทำให้เกิดอารมณ์และการจูงใจอย่างเป็นรูปธรรม

          การศึกษาศาสนาทางมานุษยวิทยาเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19  ซึ่งเป็นช่วงที่มีความสนใจในมิติปรัชญาความรู้  นักภาษาศาสตร์ของยุโรปมุ่งความสนใจไปที่การตีความคัมภีร์ไบเบิลในคริสต์ศาสนา ซึ่งถูกท้าทายจากวิทยาศาสตร์ในทฤษฎีวิวัฒนาการและการเกิดโลก ประเด็นเหล่านี้กระทบกระเทือนเรื่องความศรัทธาในศาสนาอย่างใหญ่หลวง     อีแวนส์-พริทเชิร์ดกล่าวว่าการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ การวิจารณ์คัมภีร์ไบเบิล  และแนวคิดแบบอัตถประโยชน์นิยม ทำให้ศาสนาเป็นสิ่งที่จับต้องได้   นักมานุษยวิทยาในรุ่นแรกชื่นชอบและหลงใหลศาสนาของชาวพื้นเมือง ในระดับสังคมแบบรวมกลุ่ม และชนเผ่า  โรเบิร์ตสัน สมิธกล่าวว่าพิธีขอบคุณพระเจ้าในคริสต์ศาสนาเปรียบเสมือนการบูชาเพื่อเซ่นสังเวยเทพเจ้าของชนเผ่า 

          ในมุมมองของศาสนศาสตร์ คำอธิบายเกี่ยวกับเหตุผลช่วยทำให้ศาสนาคริสต์ได้รับการยกย่อง โดยเฉพาะเมื่อนำทฤษฎีวิวัฒนาการมาอธิบาย   จะพบว่าศาสนาของชนเผ่าจะถูกจัดลำดับให้อยู่ขั้นแรกๆของวิวัฒนาการ จนถึงระดับศาสนาสมัยใหม่  และสิ่งที่อยู่สูงสุดคือวิทยาศาสตร์   คำอธิบายดังกล่าวนี้ทำให้ศาสนาของชนเผ่าถูกจัดให้เป็นศาสนาประเภทหนึ่ง  และทำให้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ของศาสนาเป็นมาอย่างไร   เจมส์ เฟรเซอร์นำตรรกะนี้ไปอธิบายในเรื่อง Golden Bough ซึ่งเป็นการค้นหาวิวัฒนาการทางความคิดจากระดับเวทมนต์ไปจนถึงวิทยาศาสตร์

          ตรรกะความคิดของทฤษฎีวิวัฒนาการชี้นำให้เกิดการค้นหารากเหง้า  เป็นการค้นหากระบวนการต่อเนื่องตามลำดับขั้น  ในสมัยวิคตอเรียเชื่อว่าพัฒนาการขั้นแรกๆของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบเห็นได้ในสังคมชนเผ่า    การศึกษาทฤษฎีบูชาภูตผีของไทเลอร์ เขากล่าวว่าศาสนาเกิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องวิญญาณ   ความฝัน และการเปลี่ยนสภาพจากชีวิตไปสู่ความตาย   มาเร็ตต์กล่าวว่าศาสนายุคแรกๆ เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเป็นความคิดที่ผ่านการตรึกตรองแล้ว  เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับพลังเหนือธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่พบในความเชื่อเรื่อง “มานา” ของชาวโพลินีเชียน

          ทฤษฎีในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เชื่อว่าศาสนาคือปรากฏการณ์ทางสังคมมากกว่าจะเป็นแค่เพียงอารมณ์ความรู้สึก   ศาสนาคือแสดงออกของชีวิตทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับระเบียบกฎเกณฑ์ พิธีกรรมและจารีตประเพณี  ศาสนามิใช่การแสดงออกส่วนตัว    เดอร์ไคม์ผู้ที่นำร่องการศึกษามานุษยวิทยาศาสนา เชื่อว่าเทพเจ้าต่างๆคือภาพสะท้อนสังคม  โครงสร้างสังคมจะปรากฏอยู่ในระบบความเชื่อ และจักรวาลวิทยา  ศาสนาจะถูกแสดงและตอกย้ำโดยพิธีกรรม  แนวคิดของเดอร์ไคม์มีอิทธิพลต่อนักมานุษยวิทยาที่ใช้ทฤษฎีหน้าที่นิยมอธิบายสังคม โดยเฉพาะเรดคลิฟฟ์-บราวน์

          ทฤษฎีศาสนาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองมีความแตกต่างหลากหลาย ศาสนาถูกมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองมากกว่าที่จะเป็นระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ตายตัว  กระบวนการรื้อฟื้นศาสนาที่พบในพิธีเต้นรำ Ghost Dance ของอินเดียนในอเมริกา หรือลัทธิบูชาวัตถุในเมลานีเซียน  เป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่มีต่อการกดขี่ และการผสมรวมทางวัฒนธรรม  ความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาถูกศึกษาจากแนวคิดเรื่องนิเวศน์วัฒนธรรม  เช่น การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของชาวนาในอินเดียต่อการห้ามฆ่าวัวของชาวฮินดู  เป็นต้น  ความสนใจในระบบสัญลักษณ์และการตีความทางวัฒนธรรมในช่วงหลังก่อให้เกิดการศึกษาศาสนาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ศาสนาจะถูกอธิบายว่าเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ และมีการเปลี่ยนสภาพไปตลอดเวลา

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *