Purity and Pollution
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ความหมาย:
ในหลายวัฒนธรรมจะแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งสะอาดและสิ่งสกปรก สิ่งที่บริสุทธิ์กับสิ่งที่มีมลทิน ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์หรือสิ่งของก็ตาม บางครั้งการแบ่งแยกนี้เกิดขึ้นโดยความเชื่อทางศาสนา ซึ่งความบริสุทธิ์จะถูกมองว่าเป็นสภาวะจิตใจที่สูงสุด แต่บางครั้งความบริสุทธิ์อาจเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องสุขภาพดีและรสนิยมดี เป็นต้น อย่างไรก็ตามธรรมชาติไม่มีกฎที่จะแยกความแตกต่างแบบนี้ ความแตกต่างเป็นเรื่องของวัฒนธรรมซึ่งจะมองต่างกัน ความต่างอาจมีโครงสร้างที่คล้ายกัน คำถามคืออะไรเป็นตัวกำหนดให้แยกความแตกต่างระหว่างความสะอาดและความสกปรก ความแตกต่างนี้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร
การแบ่งแยกความสะอาดและสกปรกส่วนใหญ่จะพบในกฎข้อห้ามเรื่องอาหาร ความสะอาดและความสกปรกเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมซึ่งแต่ละสังคมจะมองต่างกัน ตัวอย่างเช่น หลายวัฒนธรรมมองว่าประจำเดือนของผู้หญิงเป็นสิ่งสกปรก เมื่อผู้หญิงมีประจำเดือนจะถูกห้ามมิให้ทำงานบางอย่าง และห้ามติดต่อกับผู้ชาย ในบางสังคม เชื่อว่าเด็กทารกแรกเกิดเป็นผู้ที่มีภาวะอันตรายและสกปรก เด็กจะถูกนำตัวไปเข้าพิธีชำระล้างเพื่อให้เป็นเด็กที่บริสุทธิ์ ในสังคมที่มีระบบวรรณะ ทุกคนจะถูกจัดลำดับขั้นของความสะอาด ผู้ที่มีฐานะสูงกว่าจะไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนที่ต่ำกว่า เพราะคนชั้นล่างมีสภาวะสกปรก นอกจากนั้นในบางวัฒนธรรม ผู้ที่มีอาชีพเป็นเพชรฆาตจะถือว่าเป็นคนที่ไม่บริสุทธิ์
กฎของความสะอาดและความสกปรกมักจะอธิบายด้วยเรื่องสุขภาพอนามัย ความสกปรกจะถูกมองว่าน่าเกลียด น่าขยะแขยง และเป็นตัวนำโรค เช่น ความเชื่อเรื่องการเจ็บป่วยเนื่องจากไปสัมผัสกับสิ่งสกปรก ในสังคมชนเผ่าเอ็นกาในปาปัวนิวกินี มองว่าการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีที่มีประจำเดือนจะทำให้ผู้ชายคนนั้นคลื่นเหียนอาเจียน ทำให้เลือดเปลี่ยนเป็นสีดำ ทำให้หมดแรงเซื่องซึม ทำให้สติปัญญาโง่เขลา และอาจเสียชีวิต กฎเกี่ยวกับความสะอาดและสกปรกเป็นสิ่งที่นักมานุษยวิทยาสนใจ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เชื่อมโยงถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมด้านอื่นๆ เช่น การแบ่งช่วงชั้นทางสังคม การแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ทางเพศ การเจ็บป่วย และพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบนิเวศน์ กำกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและทรัพยากร
ในหลายสังคมเชื่อว่าสิ่งของศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับอันตราย หากแตะต้องของศักดิ์สิทธิ์อาจทำให้เกิดเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตาย เจมส์ เฟรเซอร์เขียนหนังสือเรื่อง The Golden Bough(1890) ซึ่งอธิบายว่าในแต่ละวัฒนธรรมมีกฎเกี่ยวกับความสะอาดและสกปรกอย่างไร เช่น หัวหน้าเผ่าในเกาะแปซิฟิกใต้จะมีข้อห้ามต่างๆเพื่อมิให้เกี่ยวข้องกับโลกสามัญชน กล่าวคือมีกฎว่าหัวหน้าเผ่าเมารีจะต้องไม่สัมผัสภาชนะขณะดื่มน้ำ ถ้าสัมผัสจะต้องนำภาชนะนั้นไปทำลาย
อีมิล เดอร์ไคม์ (1915) อธิบายว่าสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ สร้างขึ้นจากวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากสิ่งของธรรมดาสามัญ ของศักดิ์สิทธิ์จะมีกฎข้อห้ามต่างๆและเชื่อมโยงถึงเรื่องความสะอาดและสกปรก อาร์โนลด์ แวน เก็นเน็ป(1960) อธิบายว่าพิธีกรรมเพื่อสร้างความบริสุทธิ์มักจะเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่ง เช่นพิธีแบ็บติสต์ถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ แมรี ดักลาส เขียนเรื่อง Purity and Danger(1966) เป็นการศึกษาที่มีพลังเชิงทฤษฎีซึ่งอธิบายเกี่ยวกับสภาวะสกปรก ดักลาสอธิบายว่าหน้าที่ของสัญลักษณ์คือการแบ่งโลกออกเป็นประเภทต่างๆ ทำให้วัตถุในธรรมชาติมีความต่างกัน แต่วัตถุบางอย่างก็ไม่อาจจัดประเภทได้ หรือเป็นพวกที่คลุมเคลือ สิ่งของประเภทนี้มีความสำคัญต่อความหมายของการจัดประเภท และเป็นสิ่งที่มีอำนาจและเป็นอันตราย วัตถุที่มีสภาวะสกปรกตลอดเวลาจะไม่มีที่อยู่ที่ชัดเจน หรือจัดประเภทไม่ได้ วัตถุที่สกปรกจะมีสภาวะอันตรายและเป็นของพิเศษ
ความสะอาด ความสกปรก และความคลุมเคลือมีความหมายแบบธรรมดา กล่าวคือ เป็นความหมายในเชิงพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัย คำถามคือแนวคิดเรื่องความสะอาดและสกปรกนี้จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมโรคภัยไข้เจ็บใช่หรือไม่ แนวคิดนี้จะดูได้จากการปฏิบัติได้หรือไม่ คำถามนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 12 นักปราชญ์ชาวยิวชื่อไมมอไนด์ อธิบายว่าข้อห้ามทางศาสนาเกี่ยวกับลีวิติคัสเป็นข้อห้ามทางสุขภาพ ตัวอย่างเช่น บุคลิกลักษณะของหมูส่อไปในทางสกปรก เพราะหมู่อยู่ในที่ๆไม่สะอาด เนื้อหมูจึงไม่สะอาด ความรู้เรื่องเชื้อโรคในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้เรื่องความสกปรกแพร่หลาย วงการแพทย์จึงเข้ามาส่งเสริมให้ประชาชนทำความสะอาดร่างกายเพื่อป้องกันโรค เช่น ล้างมือก่อนทำอาหาร นักมานุษยวิทยาเช่น เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์(1958) อธิบายว่าความคิดเรื่องความสกปรกเกิดขึ้นมาจากวิธีการตรวจวัดสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การสร้างธรรมเนียมการล้างมือ อาบน้ำให้ทารก แยกคนป่วยออกมาต่างหาก การใช้ผ้าพันแผล และเก็บศพอย่างมิดชิด
การศึกษาในเวลาต่อมา ยืนยันว่าความเชื่อเรื่องสิ่งสกปรกในสังคมตะวันตกมีหน้าที่อย่างเดียวกับมาตรการดูแลสุขภาพของชนเผ่า มาร์วิน แฮร์รริส(1985)ศึกษาผลกระทบจากกฎเรื่องความสกปรกที่มีผลต่อการบริโภค แฮร์ริสอธิบายว่าข้อห้ามต่างๆทำให้มนุษย์อยู่ห่างไกลจากอาหารที่สกปรก เช่นชาวอิสราเอลไม่กินเนื้อหมู เพราะเชื่อว่าหมูเป็นของสกปรก อย่างไรก็ตามการศึกษาจากการปฏิบัติ ยังไม่อาจทำให้เข้าเรื่องความสกปรกได้ เพราะการศึกษาเฉพาะกรณีไม่อาจอธิบายในเชิงทฤษฎีที่นำไปศึกษาทุกสังคม ประเด็นต่อมาคือความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างสังคมกับความเชื่อเรื่องสิ่งสกปรก เนื่องจากความเชื่อเรื่องสิ่งสกปรกจะเกิดขึ้นกับบุคคลโดยผ่านสถานะทางสังคม หรือในช่วงชีวิตต่างๆ สิ่งสกปรกจึงเกี่ยวข้องกับระเบียบสังคม
ในยุคที่ทฤษฎีหน้าที่ยังได้รับความนิยม นักวิชาการทั้งหลายสนใจที่จะศึกษาความเชื่อเรื่องสิ่งสกปรก ซึ่งมีหน้าที่รักษาระเบียบสังคม การศึกษาของเรดคลิฟฟ์-บราวน์(1952) ที่หมู่เกาะอันดามัน อธิบายว่าข้อห้ามต่างๆทำให้สังคมดำรงอยู่อย่างสมดุล ชาวเกาะอันดามันจะมีข้อห้ามเรื่องอาหาร เด็กๆจะกินอาหารได้บางอย่างเท่านั้น เชอร์ลีย์ ลินเดนบูม(1972) ทำการวิจัยที่ปาปัวนิวกินี อธิบายว่าแนวคิดเรื่องความสกปรกเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในระบบนิเวศน์ ในสังคมที่มีความกดดันในการควบคุมประชากร มักจะมีแนวโน้มที่จะควบคุมผู้หญิงโดยผ่านเรื่องเพศ เพื่อมิให้มีการสืบพันธุ์มากเกินไป
อย่างไรก็ตาม สังคมอาจจะไม่มีความกลมเกลียวกับสิ่งแวดล้อม นักมานุษยวิทยาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 หันมาสนใจเรื่องความแตกต่าง การต่อสู้ดิ้นรนในทางวัฒนธรรม โดยมองว่าความคิดเรื่องสกปรกและสะอาดนำไปสู่การสร้างโครงสร้างสังคม ทำให้เกิดฐานะของคนที่ไม่เท่ากัน การศึกษาหลายชิ้นสนใจศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง และความสัมพันธ์ที่เกิดจากแนวคิดเรื่องสิ่งสกปรกจากเพศสัมพันธ์ ในหลายวัฒนธรรมเพศของผู้หญิงจะถูกมองว่าสกปรก เช่นผู้หญิงเดนมาร์กในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะต้องไปให้พระสวดให้พรก่อนที่จะคลอดบุตร เพราะการคลอดเป็นของสกปรก และผู้หญิงที่คลอดลูกจะทำให้ศาสนามีมลทิน ในสังคมหมู่เกาะปาปัวนิวกินี มีความเชื่อว่าเลือดจากประจำเดือนสตรีเป็นพิษ ผู้ชายจะไม่เข้าไปใกล้ประจำเดือนของสตรี การออกห่างจากเลือดประจำเดือนนี้สะท้อนให้เห็นโครงสร้างการเมืองระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
ในสังคมที่มีวรรณะ ความสกปรกจะเป็นตัวแบ่งชนชั้นและฐานะของบุคคล ผู้ที่มีฐานะสูงกว่าจะมีความสะอาดกว่า ถ้าคนที่มีฐานะสูงกว่าแตะตัวคนที่ฐานะต่ำกว่าจะทำให้เกิดมลทิน ระบบชนชั้นวรรณะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคม และการเปลี่ยนวรรณะก็ทำได้ยากมาก
แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)