Life History ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Life History


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

        ประวัติศาสตร์ชีวิตเป็นการศึกษาปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม โดยการสืบประวัติและประสบการณ์ของบุคคลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  นักมานุษยวิทยาจะสนใจประวัติศาสตร์ชีวิตของกลุ่มคนในท้องถิ่น ชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจ การศึกษาประวัติศาสตร์ชีวิตทำโดยการเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ต่อตัวตัว และยังใช้เป็นกรอบความคิดทฤษฎีในการศึกษาอัตลักษณ์ทางการเมืองและทางเพศของบุคคลนั้นด้วย

          รูธ เบนเนดิค(1959) เคยกล่าวว่าคุณค่าของประวัติชีวิตอยู่ตรงที่เป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมหรือเรื่องส่วนตัว ประสบการณ์จะสะท้อนความเป็นมนุษย์ของเจ้าของประวัติที่มีชีวิตอยู่ในโลก  เบเนดิคอธิบายว่ามนุษยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ให้ตัวแบบสำหรับการทำความเข้าใจประวัติของคนมากกว่าสังคมศาสตร์ ซึ่งถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบ positivist โดยเฉพาะวิชาจิตวิทยา  ในช่วงสมัยของเบเนดิค การศึกษาประวัติชีวิตกำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากเป็นวิธีที่จะช่วยให้เข้าใจบุคลิกภาพและประสบการณ์ของบุคคล  ทั้งนี้เป็นผลมาจากบรรยากาศในช่วงทศวรรษที่ 1970 ที่เริ่มมีการเปลี่ยนวิธีศึกษาไปเป็นแบบสหสาขาวิชา และสนใจในการวิเคราะห์เรื่องเล่า การสะท้อนตัวตน การตีความ การสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ปรากฏการณ์นิยม วิเคราะห์จิต และการวิพากษ์ทางวัฒนธรรมที่มีรากฐานมาจากทฤษฎีมาร์กซิสม์และเฟมินิสม์  อาจกล่าวได้ว่า เบเนดิคเชื่อมั่นในวิชามนุษยศาสตร์เพราะนำไปศึกษาประวัติชีวิตได้

          กอร์ดอน อัลพอร์ท(1942) ไคลด์ คลักโคลน(1945) และลิวอิส แอล แลงจ์เนส(1965)  ได้เสนอวิธีการและเทคนิคต่างๆสำหรับนำไปศึกษาประวัติชีวิต เช่น การศึกษาจากบันทึกส่วนตัว ปัญหาของความน่าเชื่อถือและควมถูกต้อง ประเด็นใหม่ๆสำหรับการวิเคราะห์วัฒนธรรมและการใช้ข้อมูลในอัตชีวประวัติ  การศึกษาที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ทางมานุษยวิทยา เสนอโดยคลักโคลนและแลงจ์เนส ทั้งคู่ต้องการนำแนวคิดแบบ positivism ไปใช้รวมกับแนวคิดมนุษยนิยม เช่นวิธีสุ่มตัวอย่าง   คลักโคลนอธิบายว่าประวัติชีวิตของสตรีสามารถใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวัฒนธรรมได้  คลักโคลนเชื่อว่าเมื่อนักมานุษยวิทยาสนใจเรื่องราวในอดีตก็จะทำให้มองข้ามข้อมูลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเข้าใจกระบวนการต่อนเองของชีวิต   คลักโคลนตั้งสมมุติฐานว่าการศึกษาด้วยการมองปรากฏการณ์นิยมจะช่วยให้เข้าใจประวัติชีวิตและประสบการณ์ของบุคคล  เขากล่าวว่านักมานุษยวิทยาคุ้นเคยกับการบันทึกประวัติของคนโดยแบ่งเป็นช่วงเวลาต่างๆ  การบันทึกประวัติเช่นนี้สะท้อนออกมาโดยการสัมภาษณ์  ในหลายวัฒนธรรมการคิดถึงเวลาอาจแตกต่างไปจากชาวตะวันตก ดังนั้นการบ่งบอกช่วงเวลาที่ถูกต้องอาจทำได้ยากหรือไม่สอดคล้องกับความจริง  การนำแนวคิดของคลักโลนมาใช้ศึกษาประวัติชีวิตอาจทำให้เข้าใจมากขึ้น

          การศึกษาของแลงจ์เนส(1965) ใช้การวิเคราะห์วรรณกรรม เป็นวิธีใหม่ในการศึกษาประวัติชีวิต  ปัญหาทางศีลธรรม เช่น เรื่องการปกป้องอัตลักษณ์ของบุคคล กำลังเกิดขึ้นในช่วงที่วิชามานุษยวิทยากำลังเปลี่ยนวิธีคิด  คลักโลคนและแลงจ์เนสพบว่าเมื่อมีทฤษฎีตายตัวมาอธิบาย การศึกษาประวัติชีวิตในงานวรรณกรรมเป็นสิ่งที่เชื่อไม่ได้  เป็นเรื่องยากที่จะแยกความต่างระหว่างอัตชีวประวัติของมานุษยวิทยา กับการเขียนถึงอัตชีวประวัติในงานมานุษยวิทยา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าประวัติชีวิตนั้นสร้างมาอย่างไร  แนวการศึกษาที่ได้รับความนิยมมาจากความคิดของออสการ์ ลิวอิส(1961) ซึ่งได้สร้างประวัติชีวิตที่ละเอียดซับซ้อนราวกับเป็นประวัติส่วนตัวของบุคคล โดยไม่ได้ใช้การสัมภาษณ์หรือเสริมแต่ง  เรื่องราวของชีวิตเริ่มต่างจากประวัติชีวิตโดยอิทธิพลของนักปรัชญาชาวยุโรป   การวิจัยเกี่ยวกับเรื่องราวของชีวิตนั้นมิได้เป็นการแต่งเรื่องขึ้นมาเอง แต่เป็นเรื่องราวเฉพาะของบุคคลที่มีประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง

          การใช้แนวคิดแบบมนุษยนิยมและปรากฎการณ์นิยมมาศึกษาประวัติชีวิตเริ่มขึ้นในกลางทศวรรษที่ 1970   แนวคิดนี้หลีกหนีการมองแบบประวัติศาสตร์ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่สนใจที่จะอธิบายช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต สะท้อนความคิดจากเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนักเขียนประวัติกับเรื่องราวของประวัติ  การศึกษามุ่งที่จะวิเคราะห์เนื้อหาของประวัติมากกว่าเดิม  แนวทางการเขียนประวัติชีวิตแนวใหม่ ได้แก่การเขียนประวัติส่วนตัวของนักมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครรับรู้  การเขียนในแนวนี้เป็นการเปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกแบบการได้ค้นพบตัวเอง และการมีสำนึกต่อตัวเอง โดยเฉพาะผู้เขียนที่ต่อต้านการเหยียดสีผิวและการกดขี่ข่มเหงในรูปแบบอื่นๆ

          การศึกษาประวัติชีวิตที่น่าเชื่อถือเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลความคิดปรากฏการณ์นิยม ซึ่งเกิดขึ้นในวิชาที่คาบเกี่ยวกับมานุษยวิทยา เช่น ภาษาศาสตร์ สังคมวิทยา และจิตวิทยา   การศึกษาส่วนใหญ่มักจะยึดทฤษฎีฟังแบบไม่ลำเอียง และวิเคราะห์ประวัติชีวิตโดยพิจารณาจากแบบแผนของคำพูด  การศึกษาแนวนี้ทำให้วาทกรรมในเรื่องเล่าเป็นวัตถุชนิดหนึ่งมากกว่าจะเป็นตัวตนของคนๆนั้น เรื่องราวที่เล่าออกมาจึงไม่จำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบคลิกภาพของคนเล่า  การปฏิบัติทางวัฒนธรรมและภาษาจะถูกศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางอธิบายลักษณะความไม่ลงรอยกันระหว่างประสบการณ์ชีวิตของบุคคลกับเรื่องที่ถูกเล่าผ่านภาษา

          ดอลลาร์ดให้ข้อแนะนำไว้ 3 ประการ คือ 1  ประวัติชีวิตสามารถเสนอออกมาเป็นข้อเขียน ซึ่งอาจไม่ตรงกับข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์   2 การสะท้อนตัวตนของบุคคลเป็นข้อมูลสำหรับการตีความ ข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติชีวิตคือข้อมูลชนิดหนึ่ง และตัวตนของคนเขียนก็อาจปรากฎอยู่ในประวัติชีวิตนั้น และ 3 บริบทประวัติศาสตร์ในประวัติชีวิตและเรื่องเล่าของชีวิตอาจเป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคล ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเรื่องราวที่ถูกเขียนกับตัวผู้เขียนเอง

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *