Incest Taboo ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Incest Taboo


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

          ข้อห้ามการมีเพศสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง (Incest Taboo) เป็นกฎสำหรับพี่น้องร่วมสายโลหิตในครอบครัวเดี่ยว และอาจรวมถึงญาติที่เกิดจากการแต่งงาน  ข้อห้ามนี้พบเห็นได้ในหลายวัฒนธรรม ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข้อห้ามการร่วมประเวณีในครอบครัวเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดแนวคิดทฤษฎี ครอบครัวถูกนิยามด้วยระบบคุณค่าที่ต่างกันสองแบบ  แบบแรกโดยฟอร์เตส นิยามความหมายของครอบครัวว่าเป็นหลักเกณฑ์ของการสร้างมิตร ซึ่งจำเป็นต้องมีญาติพี่น้องที่ปฏิบัติต่อกันอย่างซื่อสัตย์และเป็นเอกภาพเดียวกัน  แบบที่สอง ตามความหมายของข้อห้ามการร่วมประเวณี ครอบครัวหมายถึงบุคคลที่มีพลังขับทางเพศที่ต้องการระบาย และอยู่นอกกฎเกณฑ์ข้อผูกมัดทางสังคม

          สาเหตุของการมีข้อห้ามการร่วมประเวณียังคงเป็นที่ถกเถียงกัน  ประเด็นที่นักมานุษยวิทยาสนใจ อาจสรุปได้เป็น 3 ประเด็น คือ

          1) การอธิบายเรื่องข้อห้ามการร่วมประเวณี มักจะได้รับความคิดจากทฤษฎีจิตวิทยา  โดยเริ่มจากการศึกษาของฟรอยด์ ในเรื่อง Totem and Taboo   ทฤษฎีของฟรอยด์สันนิษฐานว่า การร่วมประเวณีที่ผิดจารีตประเพณีคือการแสดงออกถึงความปรารถนาอย่างรุนแรง เช่น ปมโอดิปุสระหว่างแม่กับลูกชาย  อารมณ์ดังกล่าวจะถูกกดถับไว้ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาทางอารมณ์และจิตใจ และเป็นสิ่งที่ผิดต่อวัฒนธรรม   การศึกษามานุษยวิทยาด้วยกรอบความคิดของฟรอยด์ อธิบายว่ากลุ่มสังคมมนุษย์ระยะแรก ผู้ชายที่เป็นพ่อจะควบคุมเพศของสตรีในกลุ่ม  ในขณะที่ลูกชายจะพยายามสร้างอำนาจเหนือพ่อโดยการฆ่าหรือกินพ่อเป็นอาหาร  แต่เมื่อเกิดสำนึกผิด มนุษย์ก็จะสร้างพิธีกรรมเพื่อชดเชยความผิดนั้น โดยสร้างสัญลักษณ์แทนพ่อที่ถูกฆ่า และใช้เป็นเครื่องหมายห้ามการร่วมประเวณีในครอบครัว และประกาศว่าผู้หญิงที่เป็นที่ปรารถนาของพ่อจะถูกส่งตัวไปให้พ่อก่อน  ถึงแม้ว่าคำอธิบายนี้จะไร้เหตุผล แต่แนวคิดจิตวิทยาก็ทำให้เกิดการถกเถียงทางมานุษยวิทยา

          2) แนวคิดของเลสลี่ ไวท์ และคล้อด เลวี สเตราส์ อธิบายว่าการร่วมประเวณีที่ผิดจารีตเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม   กล่าวคือหน้าที่ของข้อห้ามการร่วมประเวณีในครอบครัว คือการทำให้สังคมดำรงอยู่ได้  ไวท์อธิบายว่า กฎการแต่งงานออก เกิดขึ้นมาเพื่อทำให้สังคมพัฒนาขึ้น  การแต่งงานในกลุ่มญาติเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้นการแต่งงานกับคนนอกกลุ่มจึงเป็นสิ่งที่ถูกบังคับ เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือทางสังคมกับกลุ่มอื่นซึ่งจะสร้างประโยชน์ได้สูงสุด  เลวี เสตราส์ เชื่อว่าข้อห้ามการมีเพศสัมพันธ์ในครัวเรือนเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรม และทำให้มนุษย์พัฒนาความป่าเถื่อนให้เป็นวัฒนธรรม  ก่อนจะมีวัฒนธรรม มนุษย์เหมือนสัตว์ และไม่มีอิสระ เมื่อเกิดข้อห้ามการร่วมประเวณีกับคนสายเลือดเดียวกัน ความเป็นสัตว์ของมนุษย์ก็ค่อยๆหายไป

          3)  ทฤษฎีของฟรอยด์และเลวี เสตราส์ ต่างเชื่อในสิ่งเดียวกันว่าข้อห้ามการร่วมประเวณีสะท้อนลักษณะความเปลี่ยนแปลงจากความป่าเถื่อนมาสู่วัฒนธรรม ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่มีการสมสู่กันเองในครอบครัว  ทัศนะของฟรอยด์เชื่อว่า การร่วมประเวณีที่ผิดจารีตเป็นการกระทำที่แสดงอารมณ์รุนแรง มนุษย์จึงต้องมีกฎข้อห้ามมิให้ทำสิ่งนี้    เอ็ดเวิร์ด เวสเตอร์มาร์คนำความคิดฟรอยด์ไปพัฒนาต่อ โดยใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการทางชีววิทยามาสนับสนุน แต่มีสมมุติฐานที่ต่างออกไป   เวสเตอร์มาร์ค อธิบายว่า วัยเด็กของมนุษย์มีอารมณ์ทางเพศแอบแฝงอยู่ และจะสนใจคนที่อยู่ใกล้ชิดในครอบครัว  คนที่เป็นญาติพี่น้องกันจะมีความรู้สึกไม่เต็มใจที่จะแสดงความสัมพันธ์ทางเพศต่อกัน เพราะมีขนบธรรมเนียมประเพณีและกฎข้อบังคับ ที่ไม่ให้มีการร่วมประเวณีกับญาติที่ใกล้ชิด  แนวคิดนี้คือการสร้างเหตุผลเพื่อรองรับข้อห้ามการร่วมประเวณี ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของการรู้จักหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับพี่น้อง   เวสเตอร์มาร์ดกล่าวว่ามนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่ สัตว์ยังมีการสมสู่กันเองในหมู่ญาติพี่น้องร่วมสายเลือด   ปัจจุบันนี้มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าความคิดของเวสเตอร์มาร์คสอดคล้องกับพฤติกรรมของสัตว์

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

Leave a Comment