Historicism
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ความหมาย:
ประวัติศาสตร์นิยม (Historicism) หมายถึงวิธีคิดที่มองและสนใจเหตุการณ์เฉพาะในช่วงเวลาอดีต ในพื้นที่บางแห่ง ในวัฒนธรรมและสังคมบางแห่ง ความสนใจลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นนี้นำไปสู่การมองวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ โดยมองว่าวัฒนธรรมแต่ละแห่งมีความเป็นมาไม่เหมือนกัน โจฮันน์ กอตไฟรด์ วอน เฮอร์เดอร์คือผู้ที่นำแนวคิดประวัติศาสตร์มาศึกษามนุษย์ เขากล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งสากล เหตุการณ์แต่ละยุคสมัยเกิดขึ้นและจบไปไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อื่น
แนวคิดประวัติศาสตร์นิยมพัฒนาเป็นทฤษฎีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่มีข้อโต้แย้งมากมาย ฝ่ายที่คิดแบบ positivism ออกมาอ้างว่าความคิดวิทยาศาสตร์สามารถนำไปใช้ในการศึกษาทางสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์ได้ วิลเฮล์ม วินเดลแบนด์กล่าวว่า ระหว่างความเป็นสากล กับความเป็นเรื่องเฉพาะ วิทยาศาสตร์คือวิชาที่ค้นหากฎเกณฑ์และสูตรที่รองรับสิ่งต่างๆ ส่วนวิชามนุษยศาสตร์ เป็นการศึกษาความคิดและอธิบายเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นสิ่งเฉพาะแตกต่างออกไปวิลเฮล์ม ดิวธี กล่าวว่าการศึกษามนุษย์คือการทำความเข้าใจ มากกว่าจะเป็นการดูแต่ปรากฎการณ์เฉกเช่นวิชาวิทยาศาสตร์ การทำความเข้าใจมนุษย์ต้องศึกษาระบบความหมายที่มนุษย์มีร่วมกัน เพราะมนุษย์แต่ละคนต่างใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกัน มีประสบการณ์ ความคิดและการกระทำร่วมกัน ดังนั้นถ้าไม่มีการศึกษาระบบความหมาย หรือวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ก็จะไม่เกิดความเข้าใจมนุษย์
ฟรานซ์ โบแอส คือผู้ที่พยายามวางรากฐานการศึกษามานุษยวิทยาในอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาได้ทำงานวิจัยและสอนวิชามานุษยวิทยาด้วยมุมมองทางประวัติศาสตร์ การวิจัยของโบแอสอาจเรียกว่าเป็นวิธีการศึกษาแบบประวัติศาสตร์เฉพาะกรณี หรือ historical particularism การศึกษาแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อโต้ตอบแนวคิดวิวัฒนาการที่อธิบายวัฒนธรรมในเชิงเดี่ยว และพยายามตั้งสมมุติฐานว่าระบบเครือญาติในทุกสังคมมีพัฒนาการเดียวกัน ทฤษฎีวิวัฒนาการมีเป้าหมายเพื่อทำให้การศึกษามานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่มีทฤษฎีและสูตรเฉกเช่นวิทยาศาตร์ เพื่ออธิบายว่าวัฒนธรรมมีวิวัฒนาการเหมือนกันทุกหนทุกแห่ง โบแอสเชื่อว่าแบบแผนทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม เช่น การออกแบบเครื่องประดับร่างกาย หรือความคิดเกี่ยวกับตระกูล ต้องศึกษาในรายละเอียดส่วนบุคคล เขาไม่เห็นด้วยกับการอธิบายแบบวิวัฒนาการ โดยกล่าวว่า การพูดถึงตำนานของตระกูล หรือประกอบพิธีกรรมทางสังคม มนุษย์ในแต่ละแห่งคิดถึงสิ่งเหล่านี้ต่างกันไป สังคมแต่ละแห่งจึงไม่ได้มาจากเบ้าหลอมเดียวกัน
ประเด็นสำคัญของการศึกษาในมิติประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 2 อย่าง คือ หนึ่งการเข้าใจมนุษย์ต้องมองดูเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ โดยการสำรวจตรวจสอบว่ามีแบบแผนทางวัฒนธรรมอะไรบ้างที่ตกทอดหรือได้รับมาจากสังคมอื่น การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจึงทำให้เกิดความแตกต่าง วัฒนธรรมบางอย่างอาจแพร่มาจากสังคมอื่น และมีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ สอง การศึกษาวัฒนธรรมต้องอธิบายเงื่อนไขของแต่ละสังคม นักมานุษยวิทยาต้องเข้าไปเก็บข้อมูลในชุมชนเพื่อค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีที่หล่อหลอมให้เกิดการปฏิบัติในสังคมนั้น
พอล เรดิน กล่าวว่าการศึกษาวัฒนธรรมต้องศึกษาประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล มิใช่การสร้างภาพวัฒนธรรมแบบเหมารวม หนังสือของเรดินเรื่อง Autobiography of Winnebago Indian (1920) เป็นการศึกษาที่อธิบายประวัติชีวิตของบุคคล คือตัวอย่างการศึกษาที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของคุณค่าทางวัฒนธรรม โครเบอร์กล่าวว่า วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์มีความแตกต่างกันมาก สำหรับการศึกษาทางมานุษยวิทยาในมิติประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาที่ต้องอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ส่วนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พยายามนำมาปรากฏการณ์นั้นมาสร้างทฤษฎีและกฎเกณฑ์เพื่อคาดเดาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครเบอร์พัฒนาแนวคิดไปไกลกว่าโบแอส โดยเขาเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นหน่วยที่มีกฎระเบียบ กลุ่มคนในสังคมจะมีการโต้ตอบ เชื่อมโยงสัมพันธ์กันด้วยเหตุการณ์ต่างๆ โครเบอร์ยกตัวอย่างสังคมชนพื้นเมืองในแคลิฟอร์เนีย โดยกล่าวว่า อารยธรรมในเขตตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาสามารถพบในสังคมของชาวยูร็อคมากกว่าชนเผ่าอื่นๆ แนวคิดการแพร่กระจายแบบแผนวัฒนธรรมของโบแอสจึงอาจนำมาอธิบายสังคมพื้นเมืองอเมริกาไม่ได้ การศึกษาอารยธรรมที่ปรากฏอยู่จึงต้องศึกษาจากสังคมนั้น
แนวคิดประวัติศาสตร์ ยังคงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการศึกษาทางมานุษยวิทยาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มีการถกเถียงในเชิงทฤษฎีมากมาย การวิจัยในมิติประวัติศาสตร์อาจเกิดขึ้นกับการศึกษาประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ ซึ่งนักมานุษยวิทยานำมาใช้อธิบาย แนวคิดมาร์กซิสต์ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจมิติประวัติศาสตร์อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องความเป็นมาของสถาบันการผลิตที่สัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจและโครงสร้างสังคม นอกจากนั้นแนวคิดดั้งเดิมของดิวธีก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการตีความทางวัฒนธรรม และข้อจำกัดของความรู้ทางมานุษยวิทยา
แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)