Gender ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Gender


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

          Gender หมายถึง เพศภาวะหรือเพศสภาพ บ่งบอกสถานะและบทบาททางเพศของบุคคล ซึ่งมีมิติทางกายภาพ สรีระ อารมณ์ พฤติกรรม สังคม และวัฒนธรรมประกอบอยู่   นักมานุษยวิทยาเริ่มถกเถียงเรื่องเพศภาวะของมนุษย์ในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่นักสตรีนิยมเริ่มตั้งคำถามและทบทวนความคิดเรื่องเพศภาวะของหญิงและชาย ซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกัน   ในปี 1869 จอห์น สจ๊วต มิลล์เขียนบทความเรื่อง The Subjection of  Woman เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การกดขี่ผู้หญิงในสังคมอังกฤษ  กฎหมายที่กดขี่ทำให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตมนุษย์ จึงควรมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ชายและหญิงไม่ควรได้รับสิทธิพิเศษมากกว่ากัน และต้องไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียเปรียบ   มิลล์ได้เสนอแนวคิดทางปรัชญาว่าสังคมต้องมีกฎของความเท่าเทียม (Principle of Perfect Equality)  

          โจฮันน์ เบโชเฟ่นคือผู้ที่ใช้แนวคิดวิวัฒนาการมาอธิบายปรากฎการณ์ของสังคมว่า ระบบผู้หญิงเป็นใหญ่เกิดขึ้นในยุคแรกของวิวัฒนาการทางสังคม  ส่วนระบบอำนาจชายเป็นใหญ่มีทีหลังจอห์น แม็คเลนนัน อธิบายว่าระบบการสืบตระกูลข้างแม่เกิดขึ้นก่อนระบบการสืบตระกูลข้างพ่อ แต่ผู้หญิงไม่มีอำนาจเหนือกว่าผู้ชาย ความคิดนี้ต่างไปจากเบโชเฟ่น    ส่วน จอร์จ สต็อกกิ่ง ตั้งข้อสังเกตว่าทฤษฎีวิวัฒนาการปฏิเสธสถาบันที่เชิดชูอำนาจผู้ชายซึ่งอยู่ในรูปของเทพเจ้า เช่นการศึกษาของแม็คเลนนันเรื่อง Primitive Marriage อธิบายว่าระเบียบกฎเกณฑ์ในครัวเรือนเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น 

          อีวานส์ พริตเชิร์ด กล่าวในช่วงทศวรรษที่ 1950 ว่าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์สร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้น และมองข้ามความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในวัฒนธรรมต่างๆ  ในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีนักมานุษยวิทยาไม่กี่คนที่สนใจประเด็น gender   ในปี ค.ศ.1894 โอติส เมสันเขียนหนังสือเรื่อง Woman’s Share in Primitive Culture  เป็นการให้ภาพเปรียบเทียบเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในลักษณะต่างๆ ได้แก่ การทอผ้า การปั้นหม้อ การทำอาหาร และทำงานแบกหาม เป็นต้น 

          หนังสือของโรเบิร์ต โลวี่  เรื่อง Primitive Society กล่าวว่าหลายๆสังคมไม่มีการแบ่งแยกว่าอะไรคือความคิดหรือการกระทำที่เชื่อมโยงกับสถานะของหญิงและชาย  การศึกษาชนเผ่าในมหาสมุทรของมาร์กาเร็ต มี้ดในช่วงทศวรรษที่ 1920  ทำให้เกิดความเข้าใจว่าวัฒนธรรมและชีววิทยามีผลต่อการสร้างความหมายของเพศ    ในปี ค.ศ.1955  อีแวนส์ พริตเชิร์ด กล่าวว่า สถานะของสตรีเกิดขึ้นจากการแต่งงาน หรือการเป็นภรรยา  ส่วนผู้ชายยังคงมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในสังคมที่มีความก้าวหน้า ซึ่งความเชื่อนี้ทำให้เกิดการอธิบายในเวลาต่อมาว่าผู้หญิงมีฐานะต่ำกว่าชายเป็นปรากฏการณ์สากล

          นาโอมิ ควินน์ กล่าวว่าสถานภาพทางเพศอาจเปรียบเสมือนส่วนประกอบหลายอย่างๆซึ่งมีอิสระในตัวเอง ดังนั้นการศึกษาบทบาทของผู้หญิงในโลกของผู้ชายจึงต้องแยกมิติต่างๆออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบทบาททางเศรษฐกิจ  อิสะเสรีภาพส่วนตัว ความเข้มข้นของการแสดงออกถึงความแตกต่าง  การได้รับการยอมรับ การมีศักดิ์ศรี และแบบแผนพฤติกรรม และการสนทนาของผู้หญิงที่ต่างจากชาย

          นักมานุษยวิทยาหลายคนเห็นด้วยกับความคิดของมิเชลล์ โรซัลโดและหลุยส์ แลมเฟียร์ ในประเด็นที่ว่าการสร้างคำอธิบายของนักมานุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์ เป็นคำอธิบายที่มีความโน้มเอียงตามความเชื่อเดิมของนักมานุษยวิทยาที่มักจะไม่พูดถึงผู้หญิง และใช้กิจกรรมของผู้ชายมาเป็นตัววัด ดังนั้นงานเขียนทางชาติพันธุ์จึงมักจะเป็น “เสียงพูด” ของผู้ชายแทบทั้งสิ้น

          ในช่วงทศวรรษที่ 1920  การศึกษาของมาร์กาเร็ต มีด เรื่อง Coming of Age in Samoa  เป็นการศึกษาเปรียบเทียบบทบาททางเพศในชนเผ่าบนเกาะโพลินีเซีย เมลานีเซีย บาหลี และสหรัฐอเมริกา  มี้ดนำทฤษฎีบุคลิกภาพมาอธิบาย โดยมีประเด็นที่ถกเถียงสำคัญ 2 ประเด็น คือ การแสดงออกทางเพศในแต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันอย่างแจ่มชัด และ ความแตกต่างกันนั้นสะท้อนลักษณะแบบแผนทางวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน

          การศึกษาในช่วงทศวรรษที่ 1970 บอกให้ทราบว่าทั้งปัจจัยทางชีววิทยาและวัฒนธรรมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความหมายทางเพศในแต่ละสังคม ตัวอย่างเช่น  การวิจัยเกี่ยวกับพิธีกรรมของรักร่วมเพศในเมลานีเซีย พฤติกรรมรักเพศเดียวกันมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ชายที่เข้าสู่พิธีกรรมย่างเข้าวัยหนุ่ม พิธีกรรมนี้ถูกกำกับด้วยความเชื่อเรื่องบทบาทและอำนาจของผู้ชายในช่วงวัยเจริญพันธุ์  การศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนที่เกิดขึ้นกับเพศสภาพ พิธีกรรม และบริบททางการเมือง  ตัวอย่างจากสังคมเมลานีเซียทำให้ทราบว่าในช่วงชีวิตของผู้ชายจะมีประสบการณ์ของความเป็นชายและการรักเพศเดียวกันเกิดขึ้น   ปรากฏการณ์นี้ชี้ว่าแนวคิดเรื่องเพศของตะวันตกที่เกิดขึ้นในการศึกษามานุษยวิทยา ไม่อาจนำไปอธิบายสังคมอื่นได้

          อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการศึกษากลุ่มชนอิสราเอลที่เรียกว่าคิบบุทส์ที่พยายามปลดปล่อยผู้หยิงให้หลุดพ้นจากระเบียบประเพณีของการแต่งงาน การมีครอบครัว และความเหลื่อมล้ำทางเพศ   การกระทำของกลุ่มคิบบุทส์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่สมาชิกในกลุ่มก็ไม่เห็นด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำให้สังคมไม่มีความแตกต่างทางเพศก็ตาม  เมลฟอร์ด สปิโร กล่าวว่ากลุ่มคิบบุทส์พยายามวางแนวทางเกี่ยวกับเรื่องเพศในเชิงวัฒนธรรม มากกว่าจะเป็นการบังคับให้เกิดเพศสภาพแบบเดียว

          แอนน์ ฟาอุสโต-สเตอร์ลิง กล่าวว่าเพศภาวะประกอบด้วยมิติทางชีววิทยาและทางสังคม จูดิธ บัตเลอร์มองว่าเพศภาวะเป็นเรื่องที่สังคมสร้างขึ้นโดยใช้การแสดงออกทางร่างกายเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นหญิงและชาย  เพศภาวะมิได้เกิดจากปัจจัยทางชีววิทยา แต่สังคมพยายามนิยามและให้คุณค่าความเป็นหญิงชายผ่านการแสดงออกทางสรีระและใช้วาทกรรมควบคุมการแสดงออกเหล่านั้น บัตเลอร์เชื่อว่าการปฏิบัติทางร่างกายจะถูกกำกับผ่านภาษาและวาทกรรม ซึ่งสังคมจะวางบรรทัดฐานเอาไว้ว่าความเป็นหญิงและชายจะแสดงออกอย่างไร

          มาเรีย ลากูเนส อธิบายว่าในสังคมชาวยารูบา ความคิดเรื่องเพศภาวะไม่เคยเกิดขึ้นจนกระทั่งชาวตะวันตกเข้าไปปกครองพวกเขาในยุคอาณานิคม  ความรู้วิทยาศาสตร์แบบตะวันตกทำให้ชาวยารูบารับความคิดเรื่องความเป็นหญิงและชายไปใช้ในชีวิตประจำวัน ลินดา นิโคลสัน กล่าวว่าการแบ่งแยกเพศเป็นหญิงและชายมิใช่สิ่งสากล เพราะแต่ละสังคมมีวิธีการจัดแบ่งเพศมนุษย์ไม่เหมือนกัน แต่วิธีคิดแยกเพเศคู่ตรงข้ามแบบหญิงชายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก นอกจากนั้น แต่ละวัฒนธรรมก็ให้ความหมายต่ออวัยวะเพศต่างกันไป เช่น อวัยวะเพศหญิงไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของผู้หญิง หากแต่อาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชายที่ไม่สมบูรณ์  ดังนั้น การตัดสินความเป็นหญิงและชายจากอวัยวะสืบพันธุ์จึงมิใช่สิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมา แต่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่สังคมแต่ละแห่งจะนิยามต่างกันไป

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

41 thoughts on “Gender ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

  1. May I simply just say what a comfort to find an individual who really understands what they are discussing on the net. You certainly know how to bring a problem to light and make it important. A lot more people should look at this and understand this side of the story. I was surprised that you aren’t more popular because you definitely possess the gift.

  2. Thank you for all your valuable efforts on this blog. My mother delights in making time for research and it’s really easy to see why. My spouse and i hear all relating to the compelling means you render good ideas by means of your web blog and even encourage response from others on the issue and our own simple princess is without question studying a whole lot. Have fun with the remaining portion of the year. You’re performing a brilliant job.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Close