Cultural Studies
ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ความหมาย:
วัฒนธรรมศึกษา ได้รับการพัฒนาขึ้นจากความคิดของนักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ คือริชาร์ด ฮ็อคการ์ด, อี พี ทอมป์สัน, สจ๊วต ฮอลล์ และเรย์มอนด์ วิลเลียมส์ ซึ่งอธิบายว่าวัฒนธรรมหมายถึงสินค้าเพื่อการบริโภคและตอบสนองการใช้เวลาว่าง เช่น การดูหนังฟังเพลง ทำงานศิลปะ เล่นดนตรี กีฬา สันทนาการ แต่งตัวตามแฟชั่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น รูปแบบการบริโภคสินค้าและการทำกิจกรรมในเวลาว่างเหล่านี้จะถูกวิเคราะห์ผ่านความสัมพันธ์ทางการผลิต ระหว่างผู้ผลิตสินค้ากับผู้บริโภค ซึ่งวางอยู่บนเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้น วัฒนธรรมศึกษาจึงให้ความสำคัญกับชีวิตของคนธรรมดาสามัญที่ต่างไปจากชนชั้นสูงหรือขุนนาง
ริชาร์ด ฮ็อคการ์ด ได้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัย( Centre for Contemporary Cultural Studies) ขึ้นในมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สถาบันนี้เป็นสถาบันที่ริเริ่มการศึกษาวัฒนธรรมขึ้นเป็นแห่งแรกในอังกฤษ ในปี ค.ศ.1963 ทฤษฎีวัฒนธรรมจากสถาบันแห่งนี้มุ่งไปที่วัฒนธรรมในมิติการบริโภค เป็นการศึกษาชีวิตประจำวันของคนธรรมดาที่ซื้อสินค้าในท้องตลาดตอบสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งการบริโภคสินค้าต่างๆจะมีคุณค่าความหมายบางอย่าง นักวิชาการสายวัฒนธรรมศึกษาจะมุ่งค้นหาความหมายเหล่านั้น เช่น ศึกษาพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ การแต่งตัวตามแฟชั่น รสนิยมการฟังเพลง การดูภาพยนตร์ เป็นต้น
วัฒนธรรมศึกษายังมีการนำความคิดทฤษฎีแบบมาร์กซิสต์มาวิเคราะห์ เช่น ทฤษฎีอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (Cultural Industry) โดยกลุ่มนักวิชาการสายแฟรงค์เฟิร์ท นำมาใช้วิเคราะห์กระบวนการผลิตและบริโภคสินค้าของมวลชนที่ตกเป็นเหยื่อในระบบทุนนิยม นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมระหว่างนายทุนที่ได้กำไร กับผู้บริโภคที่ต้องเสียเงินซื้อสินค้าที่ฟุ่มเฟือยตามคำโฆษณาของนายทุน
ในสหรัฐอเมริกา วัฒนธรรมศึกษาจะให้ความสนใจประเด็นวัฒนธรรมประชานิยม (Popular Culture) ซึ่งศึกษาชีวิตของมวลชนที่ซื้อสินค้าเพื่อสร้างแบบแผนชีวิตของตัวเอง เช่น แฟนคลับของดาราและนักร้อง นอกจากนั้นยังมีการนำทฤษฎีเฟมินิสต์มาวิเคราะห์บทบาทและภาพลักษณ์ของหญิงชายในการบริโภคสินค้าต่างๆ รวมถึงแนวคิดเชิงจิตวิทยาที่มองว่าการบริโภคของบุคคลคือกระบวนการสร้างและต่อรองความหมาย
เมื่อเปรียบเทียบกับวิชามานุษยวิทยา สถานะของวัฒนธรรมศึกษายังคงเป็นการศึกษาที่มุ่งอธิบายวัฒนธรรมของมวลชน หรือคนหมู่มาก ซึ่งยังไม่มีการเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมดั่งเช่นที่นักมานุษยวิทยาทำ มานุษยวิทยาในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีการวิพากษ์วิจารณ์ และการโต้แย้งในเรื่องวัฒนธรรมมากขึ้น แต่วัฒนธรรมที่หยิบยกขึ้นมานั้นมักจะเป็น “วัฒนธรรมอื่น” ที่อยู่นอกทวีปยุโรป ในขณะที่การศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยมักจะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของผู้ที่ถูกกดขี่ ถูกดูหมิ่น คนชายขอบ พวกที่ไม่มีปากมีเสียง หรืออยู่ในซอกหลืบของสังคม วัฒนธรรมศึกษาจึงเป็นการศึกษาเพื่อที่จะวิพากษ์วิจารณ์องค์ความรู้ที่มีอยู่โดยอาศัยศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง นอกจากนั้น วัฒนธรรมศึกษายังมองหาพื้นที่ใหม่ๆของการวิเคราะห์และตั้งคำถามโดยไม่ยึดติดกับแบบแผนเดิมๆที่เคยปฏิบัติกันมาก่อน
ตัวแบบทางวัฒนธรรมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการศึกษาทางวัฒนธรรมนั้นต่างไปจากมานุษยวิทยา กล่าวคือ วัฒนธรรมที่ได้รับความสนใจจะเป็นเรื่องของการใช้อำนาจกดขี่และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม ในขณะที่มานุษยวิทยาจะใช้วัฒนธรรมเป็นตัวเปรียบเทียบถึงความแตกต่างในวิถีชีวิต วัฒนธรรมศึกษาจึงมีแนวคิดทฤษฎีหลายประเภทปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสังคมวิทยาที่อธิบายเกี่ยวกับสื่อมวลชน อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ทฤษฎีเกี่ยวกับภาษา แนวคิดของ Poststructuralism การรื้อสร้างใหม่ (Deconstruction) และความคิดหลังอาณานิคม(Postcolonial Theory)
อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางมานุษยวิทยายังคงมีความแตกต่างจากการศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยตรงที่ การให้ความสำคัญกับการทำงานภาคสนาม และการสังเกตอย่างมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ ทั้งนี้ก็เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ในวัฒนธรรมต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าวิชามานุษยวิทยาเป็นการศึกษาเพื่อที่จะวิเคราะห์วัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ ในขณะที่วัฒนธรรมศึกษาเป็นการวิจารณ์วัฒนธรรมส่วนปลีกย่อยที่มีความเหลื่อมล้ำ การศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยในสายตาของนักมานุษยวิทยาจึงเปรียบเสมือนความพยายามที่จะช่วงชิงอำนาจการนิยามความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” จากพวกสื่อมวลชน ชนชั้นนำ และพวกที่ชอบการวิพากษ์สังคม
“วัฒนธรรม” ในความหมายของนักวิพากษ์จึงเป็นวัฒนธรรมที่ “อ่าน” ได้ เหมือนเช่นการอ่านหนังสือ ในขณะที่นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า “วัฒนธรรม” หมายถึงเรื่องราวทางสังคมที่ประกอบขึ้นด้วยวิธีวิทยาและกรอบความคิดทฤษฎีที่ใช้อธิบาย ความแตกต่างนี้ทำให้การศึกษาวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นการท้าทายวัฒนธรรมกระแสหลักของผู้มีอำนาจหรือผู้ปกครองที่พยายามครอบงำหรือกดขี่คนกลุ่มอื่นๆ เช่นการวิเคราะห์เรื่องโทรทัศน์ และภาพยนตร์ที่มีผลต่อคนทั่วโลก ประเด็นดังกล่าวคือตัวอย่างของการวิเคราะห์บทบาทของสื่อในยุคโลกาภิวัตน์ และวัฒนธรรมข้ามชาติ ประเด็นความสนใจของนักมานุษยวิทยาและนักวิพากษ์วัฒนธรรมเริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งนักมานุษยวิทยาอาจต้องอาศัยแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆจากนักวิพากษ์วัฒนธรรมมาอธิบายมนุษย์ในมิติต่างๆมากขึ้น
แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)