Caste ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Caste


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

       Caste หมายถึงรูปแบบของการจัดช่วงชั้นสูงต่ำทางสังคม ซึ่งกำหนดสถานะและตำแหน่งของบุคคลตามสายเลือดและเครือญาติ ซึ่งคนในชนชั้นเดียวกันเท่านั้นที่จะแต่งงกันกันได้ รวมทั้ง แต่ละชนชั้นหรือวรรณะจะมีสถานภาพ การประกอบอาชีพ วิถีการดำเนินชีวิตในแบบของตัวเอง มีกฎระเบียบในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม โดยทั่วไปจะรู้จักกันในนาม “ชนชั้นวรรณะ” ซึ่งพบเห็นได้ในสังคมของชาวฮินดูในประเทศอินเดีย โดยชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาถึงอินเดียในปี ค.ศ.1498 ใช้คำว่า casta เพื่ออธิบายกลุ่มทางสังคมภายในตระกูลที่มีการแต่งงานในกลุ่มเดียวกัน

          ในปี 1901 โรเบิร์ต โฮป ริสลีย์ อธิบายว่าชนชั้นในสังคมอินเดียรู้จักในนาม “Jatis” ซึ่งคนในแต่ละชนชั้นจะแต่งงานกับคนชนชั้นเดียวกันเท่านั้น ในทัศนะของชาวฮินดูเชื่อว่าสังคมต้องมีความต่างกัน สมาชิกในสังคมต้องมีแบบแผนการปฏิบัติที่เหมาะสมกับวรรณะและสถานภาพของตนเอง   เอ แอล บาแชม อธิบายว่า ศาสนาฮินดูเชื่อว่าคนเกิดมาไม่เท่ากัน มนุษย์ต้องมีลำดับสูงต่ำ มีการแบ่งชั้นวรรณะ และคนในแต่ละชั้นจะมีหน้าที่และวิถีชีวิตที่ต่างกัน

          ความหมายของวรรณะ คือการแต่งงานภายในกลุ่มและการสืบทอดความเป็นวรรณะไปสู่ลูกหลาน  กรณียกเว้นที่เกิดขึ้นคือการแต่งงานข้ามวรรณะ ซึ่งผู้หญิงมาจากวรรณะต่ำแต่งงานกับผู้ชายที่มีวรรณะสูงกว่า  วรรณะที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมีการแบ่งแยกจากกันโดยใช้ความสะอาดกับความสกปรกเป็นเกณฑ์ในการปฏิบัติ  การแสดงปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เช่นการแบ่งอาหาร การพูดคุย การสัมผัส คือเครื่องบ่งชี้ว่าใครอยู่วรรณะอะไร   คนวรรณะต่างๆจะมีอาชีพของตัวเอง เช่น ทำนา ขัดรองเท้า ทำพรม  ฯลฯ  รวมทั้งมีพิธีกรรมและความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกัน   วรรณะก่อให้เกิดสิ่งสำคัญ 3 สิ่ง คือ ช่วงชั้น การแบ่งแยก และการสืบทอดภายในกลุ่ม สิ่งเหล่านี้คือเครื่องมือของบุคคลที่จะทำให้ระบบวรรณะสมบูรณ์ตามอุดมคติ

          การศึกษาสังคมอินเดียในระยะแรกๆ     กล่าวถึงวรรณะในลักษณะที่เป็นการแบ่งคนเป็น 4 วรรณะ    แต่ละวรรณะจะมีหน้าที่ของตัวเอง  ดูบอยส์ อธิบายว่าวรรณะพราหมณ์มีหน้าที่ทางศาสนา  วรรณะกษัตริย์ ทำหน้าที่ด้านการทหาร วรรณะแพศย์มีหน้าที่ด้านกสิกรรม ค้าขายและเลี้ยงสัตว์  วรรณะสูตมีหน้าที่รับใช้คนวรรณะอื่นๆ  ทั้ง 4 วรรณะนี้มีช่วงชั้นสูงต่ำ พราหมณ์จะอยู่สูงสุดและสะอาดที่สุด  ส่วนสูตจะอยู่ต่ำสุด  นอกจากนั้นวรรณะยังทำให้เกิดการแบ่งประเภทคนให้เหมาะสมกับวรรณะต่างๆ   นักมานุษยวิทยาชาวอินเดีย ศรีนิวาส อธิบายว่า สิ่งที่สร้างความหมายให้กับระบบชนชั้นในอินเดียคือความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรม ชนชั้นที่มีการประกอบพิธีทางศาสนาที่ซับซ้อนจะได้รับยกย่องนับถือ บุคคลที่ต้องขยับชนชั้นของตนเองให้สูงขึ้นจะพยายามรับธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาของชนชั้นสูงมาใช้ เพื่อทำให้ตนเองมีฐานะดีขึ้น

          ข้อถกเถียงในทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับเรื่องวรรณะ มีการตั้งคำถาม 2 อย่าง อย่างแรกถามว่าการแบ่งวรรณะอาศัยหลักเกณฑ์อะไร และ อย่างที่สอง ระบบวรรณะพบเห็นได้ในวัฒนธรรมอื่นๆหรือไม่ หรือว่ามีเฉพาะวัฒนธรรมเอเชียใต้เท่านั้น   ในบาหลี มีการแบ่งชนชั้นเป็น 3 ระดับ ในจีนและมองโกเลียแบ่งชนชั้นเป็น 4 ระดับ ในสังคมญี่ปุ่นมีการแบ่งชนชั้นเป็น กลุ่มจักรพรรดิและโชกุน และกลุ่มมีบุนไซที่ประกอบด้วย ซามูไร ชาวนา ช่างฝีมือ และพ่อค้า นอกจากนั้น ระบบชนชั้นยังพบได้ในเขตตะวันออกกลางและแอฟริกา

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *