Relativism ความหมายคำศัพท์ทางมานุษยวิทยา

Relativism


ผู้เขียน: ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ความหมาย:

        สัมพัทธนิยม (Relativism) หมายถึงแนวคิดที่เชื่อว่าไม่มีความจริงแบบตายตัว ความจริงสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสถานที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบความคิดความเชื่อ และโลกทัศน์ของคนแต่ละกลุ่ม ในทางมานุษยวิทยาอธิบายว่าสัมพัทธนิยมคือระเบียบวิธีที่นักมานุษยวิทยาใช้พิจารณาเพื่อทำงานภาคสนามในชุนชนของมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมต่างไปจากตะวันตก ซึ่งนักมานุษยวิทยาจะต้องไม่นำเอาความคิดแบบตะวันตกไปตัดสินคุณค่าทางวัฒนธรรมของคนอื่น และต้องศึกษาความคิดของคนอื่นในฐานะที่เป็นเงื่อนไขทางสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ

          ในช่วงปี ค.ศ.1880-1920 มีการเปลี่ยนแปลงการวิจัยทางมานุษยวิทยา จากเดิมที่เป็นการศึกษาเปรียบเทียบแบบแผนทางวัฒนธรรมต่างๆ ไปเป็นการศึกษาวัฒนธรรมแบบเจาะลึกในรายละเอียดเพื่อดูความต่างกัน  การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการตีความระบบความเชื่อและขนบธรรมเนียมต่างๆในมิติความคิดและความหมายของชาวบ้าน  วิธีการนี้คือการศึกษาแบบ relativism หรือ การค้นหาลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรม โดยมีหลักคิดว่าพฤติกรรมของมนุษย์เกี่ยวข้องกับบริบททางวัฒนธรรม 

          อีมิล เดอร์ไคม์ ชี้ให้เห็นแบบแผนของความคิดที่แตกต่างหลากหลาย  เพราะวัฒนธรรมแต่ละแห่งมีชุดความคิดของตัวเอง  ความคิดของสังคมสะท้อนโครงสร้างเฉพาะในสังคมนั้น ความคิดของเดอร์ไคม์จึงเป็นการใช้ทฤษฎี relativism มาอธิบาย  ฟรานซ์ โบแอสกล่าวว่าประสบการณ์ทางวัฒนธรรมส่วนบุคคลมีความสำคัญมากกว่าการจัดประเภทเชิงนามธรรมด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ โบแอสเชื่อว่าแบบแผนทางวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวข้องกับบริบททางวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ  ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาในแบบของตัวเอง

          รูธ เบเนดิกต์ เขียนเรื่อง Patterns of Culture ในปี ค.ศ.1934 เป็นการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อการนำความคิดเรื่องวัฒนธรรมเฉพาะไปใช้อย่างแพร่หลาย เบเนดิกต์อธิบายว่าวัฒนธรรมของชนเผ่า Dobuans, Pueblo  และ Kwakiutl มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง    วัฒนธรรมเหล่านี้มีประวัติศาสตร์และพัฒนาการที่ต่างกัน  แต่ละวัฒนธรรมมีลักษณะเฉพาะที่ไม่อาจตัดสินได้ว่าดีหรือเลวกว่าวัฒนธรรมอื่น  เพราะเปรียบเทียบกันไม่ได้ 

 

แหล่งข้อมูล: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *